03 มีนาคม 2553

การวัดระดับน้ำตาลในเลือด (Blood Sugar Measurement) ของผู้ป่วยเบาหวาน

ระดับน้ำตาลในเลือด (Blood Sugar Level) ของคนปกติจะสูงขึ้นไม่มากนักหลังจากกินอาหารแต่ละมื้อและระดับน้ำตาลในเลือดจะลดลงสู่ระดับปกติอย่างรวดเร็วภายในเวลา 2 ชั่วโมง แต่สำหรับผู้ป่วยเบาหวานแล้วระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากการกินอาหารแล้วจะสูงขึ้นมากและจะลดลงสู่ระดับปกติค่อนข้างช้า ระดับน้ำตาลในเลือดหลังการกินอาหารจะสูงขึ้นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับประเภทของอาหารที่กินและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดยังขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคเบาหวานที่เป็นอยู่ด้วย ถ้าเป็นเบาหวานมากน้ำตาลในเลือดก็จะเพิ่มขึ้นมากหลังจากการกินอาหาร การหาวิธีที่จะบอกค่าระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อใช้ในการประเมินผลการควบคุมโรคเบาหวานอาจทำได้ดังนี้

Fasting Blood Sugar (FBS) เป็นการวัดระดับน้ำตาลในเลือดโดยตรงโดยการเจาะเลือดก่อนการกินอาหารเช้า (ห้ามกินอะไรหลังเที่ยงคืนก่อนการเจาะเลือด) การวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยวิธี FBS นี้จะขึ้นลงเร็วตามอาหารที่กินเข้าไปทำให้นำผลมาเปรียบเทียบในการควบคุมเบาหวานได้ยาก จึงจำเป็นต้องหาวิธีวัดน้ำตาลในเลือดด้วยวิธีอื่นที่ให้ผลแม่นยำและมีความแน่นอนกว่า

เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะมีการคั่งของน้ำตาลในเลือด น้ำตาลจะไปจับตัวกับสารโปรตีนของเนื้อเยื่อต่างๆและจับกับโปรตีนที่ลอยอยู่ในกระแสเลือดจนไม่สามารถหลุดออกมาเป็นโมเลกุลอิสระของน้ำตาลได้จนกว่าโปรตีนนั้นจะสูญสลายหรือมีการสร้างขึ้นมาทดแทน ก่อนการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหากมีการกินอาหารจะไม่ทำให้เปอร์เซ็นต์ของน้ำตาลที่เกาะกับโปรตีนมีการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้นหากวัดระดับน้ำตาลที่จับตัวเกาะกับโปรตีนจะทำให้ได้ผลการวัดระดับน้ำตาลที่แม่นยำกว่าวิธี FBS โปรตีนที่นิยมวัดเปอร์เซ็นต์น้ำตาลที่จับอยู่ด้วยคือ ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) เป็นโปรตีนที่อยู่ในเม็ดเลือดซึ่งเราจะเรียกฮีโมโกลบินที่มีน้ำตาลไปเกาะอยู่ด้วยว่า ไกลโคซิเลตฮีโมโกลบิน (Glycosylated Hemoglobin)

เมื่อไกลโคซิเลตฮีโมโกลบินจับตัวกับน้ำตาลที่มีความเข้มข้นสูงจะถูกเรียกว่า ฮีโมโกลบินเอวัน ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการกำเริบของโรคเบาหวาน ปริมาณของฮีโมโกลบินเอวันจะสะท้อนให้เห็นทั้งเวลาและระดับที่น้ำตาลในเลือดสูงด้วย ในปัจจุบันการวัดระดับน้ำตาลในเลือดจึงนิยมวัดค่ารวมของฮีโมโกลบินเอวัน จะทำให้สามารถนำผลที่ได้ไปประเมินและเปรียบเทียบผลการควบคุมเบาหวานได้แม่นยำกว่า.