24 กันยายน 2553

อาการผิดปกติของร่างกายที่พบในผู้ป่วยเบาหวาน(Diabetes Symptoms) และการแก้ไข

โรคเบาหวาน(Diabetes Mellitus) ทำให้ระบบการทำงานในส่วนต่างๆของร่างกายได้รับผลกระทบมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป อาการผิดปกติของร่างกายที่เกิดจากโรคเบาหวานมีหลายอย่างเช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนท่า ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในเพศชาย ภาวะมีเหงื่อออกมากผิดปกติ ภาวะการติดเชื้อ ภาวะปัสสาวะลำบาก ภาวะผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ฯลฯ

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ(Hypoglycemia) มีอาการดังต่อไปนี้เช่น เหงื่อออกมาก ตัวเย็น มือสั่น รู้สึกอ่อนเพลีย มึนงง หงุดหงิดฉุนเฉียวขึ้นมาทันทีทันใด หัวใจเต้นแรงและเร็ว ปวดหรือมึนศีรษะ เห็นภาพซ้อนตาพร่ามัว หิวมาก หน้าซีดพูดไม่ชัด ชักและหมดสติ อาการภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมักเกิดจาก 3 สาเหตุคือ การฉีดอินซูลิน (Insulin) หรือกินยาลดระดับน้ำตาลมากไป การกินอาหารผิดเวลาหรือเว้นช่วงระหว่างมื้ออาหารนานเกินไปและสาเหตุสุดท้ายคือการทำงานหรือออกกำลังกายหนักเกินไป

การรักษาอาการภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ(Hypoglycemia) ทำได้ง่ายหากอาการไม่เป็นมากจนหมดสติ เพียงแต่ต้องรู้จักสังเกตอาการของโรคให้ดี หากรู้สึกว่ามีอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอย่ารอให้อาการดังกล่าวเป็นมากขึ้นแล้วคิดว่าสักครู่ก็หายเองได้ ให้รีบแก้ไขอาการเหล่านั้นด้วยวิธีง่ายๆคือ เมื่อรู้สึกถึงอาการเตือนของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำและรู้แน่ชัดว่าเกิดจากการกินอาหารผิดเวลาให้รีบแก้ไขโดยการกินอาหารทันทีหรืออย่างน้อยต้องมีอาหารว่างไว้รองท้องก่อน อาการจะค่อยๆดีขึ้นจนเป็นปกติ

หากเกิดอาการภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำค่อนข้างมากควรแก้ไขโดยกินอาหารที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้โดยเร็วเพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดโดยเร็วเช่น ขนมหวาน น้ำหวาน ลูกกวาด ฯลฯ แต่หากสาเหตุเกิดจากการทำงานหรือออกกำลังกายหนักเกินไปก็ให้แก้ไขด้วยการหยุดทำงานหรือหยุดการออกกำลังกายนั้นแล้วให้ผู้ป่วยนั่งหรือนอนพักจนกว่าอาการจะดีขึ้น ระหว่างรอสังเกตอาการประมาณ 10-20 นาทีหากอาการยังไม่ดีขึ้นให้กินอาหารเพิ่มเติม ถ้าผู้ป่วยเกิดหมดสติไป อย่าพยายามป้อนอาหารให้ผู้ป่วยขณะหมดสติโดยเด็ดขาดให้รีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

การป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ(Hypoglycemia) ของผู้ป่วยเบาหวานให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์โดยเคร่งครัดในทุกๆเรื่องไม่ว่าจะเป็นการฉีดอินซูลิน(Insulin) การกินยาลดระดับน้ำตาลหรือการควบคุมอาหารและเวลาการกินอาหาร หมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ หากต้องกินยาอื่นๆที่นอกเหนือจากที่แพทย์สั่งให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเพราะยาเหล่านั้นอาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้และบอกให้ญาติหรือคนใกล้ตัวรู้ถึงอาการของโรคตลอดจนวิธีแก้ไขเพื่อจะได้ช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงที