01 กุมภาพันธ์ 2553

เบาหวานประเภทที่ 1 (Type 1 Diabetes) ชนิดที่ต้องพึ่งอินซูลิน

เบาหวานประเภทที่ 1 หรือเบาหวานชนิดที่ต้องพึ่งอินซูลิน มีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลินโดยสิ้นเชิงเนื่องจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลผ่านเข้าไปในเนื้อเยื่อต่างๆ เพื่อเผาผลาญให้เกิดเป็นพลังงานได้ ระดับน้ำตาลในเลือดจึงสูงขึ้นเรื่อยๆ

ร่างกายของผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 จึงต้องหาพลังงานทดแทนจากการสลายโปรตีนและไขมันในร่างกายซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะทำให้เกิดสารคีโทนที่มีคุณสมบัติเป็นกรดและเป็นพิษต่อร่างกาย เมื่อเกิดสารคีโทนในเลือดมากขึ้นก็จะเกิดภาวะกรดคั่งในเลือดจากสารคีโทน มีอาการหายใจหอบลึก คลื่นไส้ อาเจียน ผิวหนังแห้ง ชีพจรเต้นเร็ว ปวดท้องและระดับความรู้สึกตัวจะค่อยๆลดลง

ภาวะกรดคั่งในเลือดจากสารคีโทน จะเกิดอาการอย่างรุนแรงและฉับพลัน การขาดอินซูลินทำให้การสลายไขมันเป็นไปอย่างรวดเร็วทำให้เกิดสารคีโทนขึ้นในเลือดมาก ถ้าผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็จะถึงขั้นหมดสติ อาการที่เกิดขึ้นหากรู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจทำให้ผู้ป่วยถึงกับเสียชีวิตได้ เบาหวานประเภทที่ 1 มักจะเกิดกับคนที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปีและผู้ป่วยเบาหวานจะมีรูปร่างที่ผอม

การดูแลผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะกรดคั่งในเลือดจากสารคีโทน ผู้ป่วยเบาหวานต้องฉีดอินซูลินทุกวันและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ เมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้นมาต้องปฏิบัติตามวิธีดูแลตัวเองเมื่อเจ็บป่วย (Sick day rules) อย่างเคร่งครัด.