03 กุมภาพันธ์ 2553

เบาหวานในระยะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes Mellitus)

คนส่วนมากมักเข้าใจว่า ผู้ป่วยเบาหวานไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ความจริงแล้วโรคเบาหวานไม่ได้มีส่วนทำให้การเจริญพันธุ์ลดลงแต่ประการใด ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานจึงสามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติเพียงแต่ผลกระทบจากการเป็นโรคเบาหวานอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนแก่มารดาและทารกในครรภ์

เบาหวานกับการตั้งครรภ์แบ่งได้ 2 กลุ่มคือ 1.ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานอยู่ก่อนแล้วจึงตั้งครรภ์ในภายหลัง 2.หญิงที่กำลังตั้งครรภ์แล้วตรวจพบว่าเป็นเบาหวาน สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานอยู่ก่อนแล้วตั้งครรภ์ทีหลังวิธีการดูแลรักษาทำได้โดยการควบคุมอาหารควบคู่กับการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน หากปฏิบัติแล้วยังไม่สามารถควบคุมเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจได้ก็ต้องใช้ยาลดระดับน้ำตาลโดยการฉีดอินซูลินเท่านั้น ไม่สามารถใช้ยากินสำหรับลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เพราะการกินยาลดระดับน้ำตาลในเลือดจะส่งผลกระทบกับเด็กทารกในท้องได้ หากผู้ป่วยเบาหวานต้องการตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์และวางแผนล่วงหน้าเพื่อหาทางควบคุมเบาหวานให้ดีเพื่อไม่เกิดอันตรายต่อมารดาและทารกในครรภ์

สำหรับหญิงมีครรภ์ที่ตรวจพบเบาหวานในระหว่างตั้งครรภ์ โรคเบาหวานอาจมีสาเหตุมาจากการตั้งครรภ์ก็ได้ ดังนั้นเพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างราบรื่นควรมีการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานในหญิงมีครรภ์ทุกรายโดยการตรวจคัดกรองจะทำเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 24-28 สัปดาห์ ทำได้โดยให้หญิงมีครรภ์ดื่มน้ำตาลกลูโคส 50 กรัมที่ละลายในน้ำ 1 แก้ว รอเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงจึงตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด หากมีค่าตั้งแต่ 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไปแสดงว่าหญิงมีครรภ์มีแนวโน้มที่จะเป็นเบาหวานและต้องทำการทดสอบอย่างละเอียดต่อไป

เบาหวานในระหว่างตั้งครรภ์จะมีผลกระทบต่อมารดาและทารกดังนี้คือ ผลกระทบต่อมารดาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำเกินไป ภาวะหลอดเลือด ไต ตาและปลายประสาทเสื่อม ความดันโลหิตสูง ติดเชื้อได้ง่ายโดยเฉพาะในระบบทางเดินปัสสาวะและภาวะกรดคั่งในเลือดจากสารคีโทน ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทารกคือ เด็กจะโตกว่าปกติทำให้คลอดยากและอาจเกิดอันตรายระหว่างคลอด คลอดก่อนกำหนด แท้งหรือทารกตายในครรภ์ ทารกตัวเหลือง พิการแต่กำเนิด หัวใจล้มเหลว ซึ่งล้วนแต่เป็นอันตรายต่อทารกเป็นอย่างมาก

ภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นสามารถควบคุมหรือลดเปอร์เซ็นต์การเกิดให้น้อยลงได้หากหญิงมีครรภ์ได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดและถูกวิธี สิ่งสำคัญคือพยายามรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงกับระดับของคนปกติให้มากที่สุดทั้งก่อนและขณะตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยเบาหวานจำนวนไม่น้อยที่แพทย์ไม่แนะนำให้ตั้งครรภ์หากอยู่ในภาวะต่อไปนี้คือ หัวใจขาดเลือด เบาหวานขึ้นตารุนแรงและยังไม่ได้รักษา มีภาวะไตเสื่อม มีอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย อาเจียนอย่างรุนแรง ความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอททั้งๆที่อยู่ในระหว่างการรักษาเบาหวาน.