10 มกราคม 2553

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสการเป็นโรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus)

เบาหวาน (Diabetes) เป็นจุดเริ่มต้นของโรคร้ายอื่นๆ หากผู้ป่วยเบาหวานไม่รู้ว่าตัวเองเป็นเบาหวานหรือรู้แล้วแต่ไม่ตระหนักในอันตรายของโรคเบาหวานปล่อยปละละเลยไม่ดูแลสุขภาพตามคำแนะนำของแพทย์จะทำให้เกิดผลที่ตามมาคือมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นกับระบบการทำงานต่างๆของร่างกาย ซึ่งมีอันตรายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าโรคมะเร็งหรือโรคร้ายอื่นๆเลย ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานมีหลายปัจจัยดังต่อไปนี้

ปัจจัยเรื่องอายุที่มากขึ้นตามวัย คนสูงวัยผ่านโลกมีประสบการณ์มามาก ร่างกายก็ถูกใช้มาเป็นเวลาที่ยาวนานเปรียบเหมือนกันรถยนต์ที่พอใช้ไปนานๆก็มีการสึกหรอของชิ้นส่วนและเครื่องยนต์ หากมีการดูแลรักษาเป็นประจำก็จะยืดอายุการใช้งานออกไปได้นานหน่อย หากไม่ดูแลรักษาบำรุงให้ดีอายุการใช้งานก็จะสั้นลง แต่บทสรุปก็คือสุดท้ายรถก็เสียหายจนต้องทิ้งไปเป็นเศษเหล็กไม่ช้าก็เร็ว ประสิทธิภาพการทำงานของระบบต่างๆในร่างกายคนเราก็เหมือนกัน พอนานวันไปก็มีการเสื่อมถอยไปตามอายุที่มากขึ้นเช่น ตับอ่อนที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) เมื่ออายุมากขึ้นประสิทธิภาพการทำงานของตับอ่อนจะลดลงหากผู้ป่วยไม่ควบคุมพฤติกรรมเรื่องการกินอาหาร (น้ำตาล) ก็จะส่งผลให้มีน้ำตาลอยู่ในกระแสเลือดเป็นจำนวนมากนั่นคือปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานได้

การทำงานของตับอ่อน (Pancreas) โดยปกติตับอ่อนมีหน้าที่สร้างฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ออกมาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่พอตับอ่อนได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกอื่นๆเช่น ผู้ป่วยดื่มสุราจัดทำให้ตับอ่อนอักเสบหรือผู้ป่วยได้รับอุบัติเหตุจนทำให้ตับอ่อนบอบช้ำซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของตับอ่อนลดลงจึงเกิดเป็นปัจจัยเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เป็นโรคเบาหวานได้

การใช้ยาบางชนิด การติดเชื้อไวรัสและการตั้งครรภ์ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคเบาหวานได้เช่นกันเช่น การใช้ยาขับปัสสาวะ การใช้ยาคุมกำเนิดอาจมีผลทำให้น้ำตาลในเลือดสูงมากขึ้น ร่างกายของคนเราในขณะตั้งครรภ์จะมีการสร้างฮอร์โมนออกมาหลายชนิดที่มีผลต่อการยับยั้งการทำงานของอินซูลิน (Insulin) นอกจากนี้เชื้อไวรัสบางชนิดเช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดคางทูม หัดเยอรมันก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานได้เช่นกัน

ความอ้วน หากผู้ป่วยอ้วนมากร่างกายจะตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยลงทำให้อินซูลินทำหน้าที่บกพร่องคือนำน้ำตาลจากเลือดเข้าไปสู่เนื้อเยื่อต่างๆได้น้อยลง อันเป็นผลให้มีน้ำตาลตกค้างอยู่ในกระแสเลือดมากซึ่งเป็นสาเหตุของเบาหวานได้

โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus) สามารถหลีกเลี่ยงได้หากรู้จักดูแลสุขภาพและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคเบาหวาน การป้องกันโรคเบาหวานอีกวิธีหนึ่งคือหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้งโดยเฉพาะหากคุณอยู่ในข่ายที่มีโอกาสเป็นเบาหวานสูง การตรวจสุขภาพจะช่วยให้รู้ตัวว่าเป็นเบาหวานตั้งแต่เนิ่นๆ การรู้ตัวเร็วจะมีผลดีต่อการรักษาและควบคุมอาการของโรคเบาหวานได้ดีขึ้น