แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ สาเหตุโรคเบาหวาน แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ สาเหตุโรคเบาหวาน แสดงบทความทั้งหมด

21 มกราคม 2553

โรคเบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) สาเหตุและอาการ

เบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) เป็นอาการแทรกซ้อนอย่างหนึ่งของโรคเบาหวานเนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นมากและผลจากน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นจะแสดงผลออกมาบริเวณดวงตาทำให้บริเวณลูกตาหรือจอรับภาพมีเลือดออกมาบดบังการมองเห็น หากปล่อยให้อาการรุนแรงขึ้นจะทำให้อาการลุกลามจนทำให้สูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดได้

เบาหวานขึ้นตามีสาเหตุจากเกิดความผิดปกติที่เส้นประสาทตาเนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงทำให้เส้นเลือดฝอยที่ไปเลี้ยงประสาทตาเกิดจากอุดตันจนผนังเส้นเลือดไม่สามารถรับได้ทำให้เส้นเลือดบริเวณจอรับภาพแตก อาการเบาหวานขึ้นตาเมื่อเริ่มเป็นจะไม่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็นเพราะเส้นเลือดฝอยในตาที่แตกอาจเกิดขึ้นตรงบริเวณอื่นที่ไม่ใช่ส่วนของจอรับภาพจึงไม่กระทบกับการมองเห็นผู้ป่วยที่เริ่มเป็นจึงไม่รู้ตัวกว่าจะรู้ตัวก็ต้องรอจนอาการลุกลามจนถึงศูนย์กลางการรับภาพที่ทำให้เกิดความผิดปกติในการมองเห็น

การอุดตันของเส้นเลือดในดวงตาทำให้เส้นประสาทตาขาดเลือดไปเลี้ยง ร่างกายจะมีการสร้างเส้นเลือดใหม่ขึ้นมาแทนในส่วนของจอรับภาพที่ขาดเลือดไปเลี้ยง แต่เส้นเลือดใหม่เหล่านี้มีความเปราะบางและถูกสร้างขึ้นใหม่แบบไม่มีระเบียบจึงทำให้แตกได้ง่ายทำให้เกิดผลต่อเนื่องคือมีเลือดขังอยู่ในลูกตาซึ่งรบกวนการมองเห็นของผู้ป่วยหรืออาจทำให้ตามืดลงอย่างทันทีก็ได้

หากตรวจพบเบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) โดยเร็วจะทำให้การดูแลรักษาเป็นไปได้ดีขึ้น การตรวจสุขภาพดวงตาปีละครั้งเป็นการป้องกันอาการผิดปกติที่จะเกิดขึ้นกับดวงตาได้ หากมีโรคแทรกซ้อนต่างๆที่เริ่มเกิดขึ้นจะตรวจพบได้แต่เนิ่นๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการดูแลรักษา โรคเบาหวานเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับระบบต่างๆของร่างกายซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายได้ทุกเมื่อ ดังนั้นควรให้ความสนใจกับการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อความปลอดภัยของคุณเอง

19 มกราคม 2553

โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus) อินซูลิน (Insulin) และน้ำตาลกลูโคส (Glucose) เกี่ยวข้องกันอย่างไร

คนเราจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติจะต้องมีการกินอาหาร ร่างกายจะย่อยอาหารและทำการเผาผลาญให้ได้สารอาหาร สารอาหารที่ให้พลังงานได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีนและไขมันซึ่งจะถูกย่อยจนกลายเป็นน้ำตาลกลูโคส (Glucose) กรดอะมิโนและกรดไขมัน พลังงานที่ได้จากการเผาผลาญอาหารบางส่วนจะนำไปใช้ได้ทันทีแต่บางส่วนก็ถูกนำไปเก็บสะสมตามอวัยวะต่างๆเพื่อเป็นพลังงานสำรองไว้ใช้ยามร่างกายขาดแคลนพลังงาน

แหล่งพลังงานที่สำคัญต่อร่างกายโดยเฉพาะเซลล์สมองคือ น้ำตาลกลูโคส (Glucose) น้ำตาลในเลือดจะถูกเซลล์ต่างๆนำไปใช้ประโยชน์กับร่างกายโดยมีฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) เป็นตัวนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์เพื่อเผาผลาญให้ได้พลังงาน โดยรวมคือฮอร์โมนอินซูลินจะทำให้มีการนำสารอาหารที่เราบริโภคไปใช้สร้างเป็นพลังงานที่ต้องใช้ทันทีและบางส่วนก็ถูกเก็บสำรองไว้ตามเนื้อเยื่อต่างๆในร่างกาย

ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) จะถูกหลั่งออกมามากน้อยขึ้นอยู่กับระดับน้ำตาลในเลือดที่เป็นตัวส่งสัญญาณกระตุ้นหรือยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน ในภาวะปกติค่าของระดับน้ำตาลในเลือดควรอยู่ระหว่าง 55-140 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงหรือต่ำกว่านี้จะเกิดผลเสียต่อการนำพลังงานไปใช้ของร่างกาย

โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus) มีสาเหตุมาจากการขาดฮอร์โมนอินซูลินหรืออินซูลินทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ร่างกายไม่สามารถควบคุมกลไกในการเผาผลาญสารอาหารได้ตามปกติ การที่ร่างกายขาดอินซูลินหรือดื้อต่ออินซูลินจะทำให้กระบวนการที่เซลล์ต่างๆนำไขมันและโปรตีนไปใช้เกิดขัดข้องทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ

ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินกว่าความสามารถของไตที่จะเก็บกักน้ำตาลไว้ได้จนล้นหรือถูกขับออกมาทางปัสสาวะและจะดึงเอาน้ำออกมาพร้อมกับน้ำตาลด้วยทำให้ร่างกายต้องปัสสาวะบ่อยและจากการสูญเสียน้ำออกมาทางปัสสาวะจำนวนมากทำให้เกิดอาการคอแห้งและกระหายน้ำมากซึ่งนั่นคืออาการของโรคเบาหวานนั่นเอง.

10 มกราคม 2553

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสการเป็นโรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus)

เบาหวาน (Diabetes) เป็นจุดเริ่มต้นของโรคร้ายอื่นๆ หากผู้ป่วยเบาหวานไม่รู้ว่าตัวเองเป็นเบาหวานหรือรู้แล้วแต่ไม่ตระหนักในอันตรายของโรคเบาหวานปล่อยปละละเลยไม่ดูแลสุขภาพตามคำแนะนำของแพทย์จะทำให้เกิดผลที่ตามมาคือมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นกับระบบการทำงานต่างๆของร่างกาย ซึ่งมีอันตรายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าโรคมะเร็งหรือโรคร้ายอื่นๆเลย ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานมีหลายปัจจัยดังต่อไปนี้

ปัจจัยเรื่องอายุที่มากขึ้นตามวัย คนสูงวัยผ่านโลกมีประสบการณ์มามาก ร่างกายก็ถูกใช้มาเป็นเวลาที่ยาวนานเปรียบเหมือนกันรถยนต์ที่พอใช้ไปนานๆก็มีการสึกหรอของชิ้นส่วนและเครื่องยนต์ หากมีการดูแลรักษาเป็นประจำก็จะยืดอายุการใช้งานออกไปได้นานหน่อย หากไม่ดูแลรักษาบำรุงให้ดีอายุการใช้งานก็จะสั้นลง แต่บทสรุปก็คือสุดท้ายรถก็เสียหายจนต้องทิ้งไปเป็นเศษเหล็กไม่ช้าก็เร็ว ประสิทธิภาพการทำงานของระบบต่างๆในร่างกายคนเราก็เหมือนกัน พอนานวันไปก็มีการเสื่อมถอยไปตามอายุที่มากขึ้นเช่น ตับอ่อนที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) เมื่ออายุมากขึ้นประสิทธิภาพการทำงานของตับอ่อนจะลดลงหากผู้ป่วยไม่ควบคุมพฤติกรรมเรื่องการกินอาหาร (น้ำตาล) ก็จะส่งผลให้มีน้ำตาลอยู่ในกระแสเลือดเป็นจำนวนมากนั่นคือปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานได้

การทำงานของตับอ่อน (Pancreas) โดยปกติตับอ่อนมีหน้าที่สร้างฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ออกมาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่พอตับอ่อนได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกอื่นๆเช่น ผู้ป่วยดื่มสุราจัดทำให้ตับอ่อนอักเสบหรือผู้ป่วยได้รับอุบัติเหตุจนทำให้ตับอ่อนบอบช้ำซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของตับอ่อนลดลงจึงเกิดเป็นปัจจัยเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เป็นโรคเบาหวานได้

การใช้ยาบางชนิด การติดเชื้อไวรัสและการตั้งครรภ์ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคเบาหวานได้เช่นกันเช่น การใช้ยาขับปัสสาวะ การใช้ยาคุมกำเนิดอาจมีผลทำให้น้ำตาลในเลือดสูงมากขึ้น ร่างกายของคนเราในขณะตั้งครรภ์จะมีการสร้างฮอร์โมนออกมาหลายชนิดที่มีผลต่อการยับยั้งการทำงานของอินซูลิน (Insulin) นอกจากนี้เชื้อไวรัสบางชนิดเช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดคางทูม หัดเยอรมันก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานได้เช่นกัน

ความอ้วน หากผู้ป่วยอ้วนมากร่างกายจะตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยลงทำให้อินซูลินทำหน้าที่บกพร่องคือนำน้ำตาลจากเลือดเข้าไปสู่เนื้อเยื่อต่างๆได้น้อยลง อันเป็นผลให้มีน้ำตาลตกค้างอยู่ในกระแสเลือดมากซึ่งเป็นสาเหตุของเบาหวานได้

โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus) สามารถหลีกเลี่ยงได้หากรู้จักดูแลสุขภาพและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคเบาหวาน การป้องกันโรคเบาหวานอีกวิธีหนึ่งคือหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้งโดยเฉพาะหากคุณอยู่ในข่ายที่มีโอกาสเป็นเบาหวานสูง การตรวจสุขภาพจะช่วยให้รู้ตัวว่าเป็นเบาหวานตั้งแต่เนิ่นๆ การรู้ตัวเร็วจะมีผลดีต่อการรักษาและควบคุมอาการของโรคเบาหวานได้ดีขึ้น

07 มกราคม 2553

อาการโรคเบาหวาน (Diabetes Symptom) ต้องถ่ายปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน

อาการโรคเบาหวาน (Diabetes Symptom) มีหลายอาการแต่อาการที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือการถ่ายปัสสาวะบ่อยซึ่งเป็นทั้งตอนกลางวันและกลางคืน การถ่ายปัสสาวะบ่อยเกิดจากกลไกของไตที่พยายามจะกรองแยกเอาสารอาหารที่มีประโยชน์ (น้ำตาล) กลับคืนสู่ร่างกายและคัดแยกเอาของเสียออกจากเลือดแล้วขับออกจากร่างกายไปโดยส่งไปพร้อมกับปัสสาวะจึงเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเบาหวานต้องปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ การถ่ายปัสสาวะบ่อยตอนกลางวันก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรนอกจากผู้ป่วยจะรู้สึกรำคาญกับอาการโรคเบาหวานที่เป็นอยู่แต่การปัสสาวะบ่อยตอน

กลางคืนนอกจากจะสร้างความหงุดหงิดรำคาญให้กับผู้ป่วยแล้วยังทำให้ผู้ป่วยพักผ่อนไม่เพียงพอซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้

อาการโรคเบาหวานของผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) เมื่อเลือดไหลผ่านไต ไตก็จะทำหน้าที่กรองหรือคัดแยกระหว่างของดีและของเสียที่อยู่ในเลือด ไตจะจัดการส่งของดีเช่นน้ำตาลและสารอาหารต่างๆกลับคืนไปกับกระแสเลือดและส่งของเสียอื่นๆ ที่ปะปนอยู่ในเลือด ทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะจึงเป็นเหตุให้ผู้ป่วยเบาหวานต้องปัสสาวะบ่อยๆ

ความสามารถของไตในการคัดแยกเพื่อนำสารอาหารดีกลับคืนและส่งของเสียทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะก็มีข้อจำกัดเหมือนกัน หากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (คนปกติ) ความสามารถขอไตจะสามารถดึงน้ำตาลกลับคืนสู่ระบบได้ทั้งหมด ดังนั้นการตรวจปัสสาวะของคนปกติที่ไม่ได้เป็นเบาหวานจะตรวจไม่พบน้ำตาลในปัสสาวะ

แต่ในกรณีของผู้ป่วยที่มีอาการโรคเบาหวานนั่นคือระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ปกติ ทำให้เกินความสามารถของไตที่จะนำน้ำตาลกลับสู่ระบบได้ คนที่เป็นโรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus) จึงมีน้ำตาลหลุดออกมาปะปนอยู่ในปัสสาวะและเนื่องจากน้ำตาลส่วนเกินที่ไตไม่สามารถดูดคืนสู่ระบบได้จะถูกส่งผ่านไปกับน้ำปัสสาวะคือต้องมีน้ำเป็นตัวส่งผ่านน้ำตาลออกจากร่างกายจึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานต้องถ่ายปัสสาวะบ่อยกว่าคนปกติ

การตรวจหาอาการโรคเบาหวานด้วยการตรวจปัสสาวะนั้น (Urinary Analysis) ถ้าผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ที่ประมาณ 140-180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร การตรวจปัสสาวะว่ามีน้ำตาลปนอยู่มากน้อยหรือไม่นั้นอาจได้ผลที่ไม่ชัดเจนเนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดที่ระดับนี้ยังไม่เกินความสามารถของไตที่คอยสกัดกั้นและดึงน้ำตาลกลับคืนสู่ระบบได้ การตรวจหาเบาหวานจากการตรวจระดับน้ำตาลในปัสสาวะจึงอาจให้ผลที่ไม่แน่นอนหากต้องการผลการตรวจว่าเป็นเบาหวานหรือไม่ที่ได้ผลแน่นอนควรใช้วิธีตรวจหาน้ำตาลในเลือด (FBS : Fasting Blood Sugar) จะให้ผลที่แน่นอนกว่า