19 มกราคม 2553

โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus) อินซูลิน (Insulin) และน้ำตาลกลูโคส (Glucose) เกี่ยวข้องกันอย่างไร

คนเราจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติจะต้องมีการกินอาหาร ร่างกายจะย่อยอาหารและทำการเผาผลาญให้ได้สารอาหาร สารอาหารที่ให้พลังงานได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีนและไขมันซึ่งจะถูกย่อยจนกลายเป็นน้ำตาลกลูโคส (Glucose) กรดอะมิโนและกรดไขมัน พลังงานที่ได้จากการเผาผลาญอาหารบางส่วนจะนำไปใช้ได้ทันทีแต่บางส่วนก็ถูกนำไปเก็บสะสมตามอวัยวะต่างๆเพื่อเป็นพลังงานสำรองไว้ใช้ยามร่างกายขาดแคลนพลังงาน

แหล่งพลังงานที่สำคัญต่อร่างกายโดยเฉพาะเซลล์สมองคือ น้ำตาลกลูโคส (Glucose) น้ำตาลในเลือดจะถูกเซลล์ต่างๆนำไปใช้ประโยชน์กับร่างกายโดยมีฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) เป็นตัวนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์เพื่อเผาผลาญให้ได้พลังงาน โดยรวมคือฮอร์โมนอินซูลินจะทำให้มีการนำสารอาหารที่เราบริโภคไปใช้สร้างเป็นพลังงานที่ต้องใช้ทันทีและบางส่วนก็ถูกเก็บสำรองไว้ตามเนื้อเยื่อต่างๆในร่างกาย

ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) จะถูกหลั่งออกมามากน้อยขึ้นอยู่กับระดับน้ำตาลในเลือดที่เป็นตัวส่งสัญญาณกระตุ้นหรือยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน ในภาวะปกติค่าของระดับน้ำตาลในเลือดควรอยู่ระหว่าง 55-140 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงหรือต่ำกว่านี้จะเกิดผลเสียต่อการนำพลังงานไปใช้ของร่างกาย

โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus) มีสาเหตุมาจากการขาดฮอร์โมนอินซูลินหรืออินซูลินทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ร่างกายไม่สามารถควบคุมกลไกในการเผาผลาญสารอาหารได้ตามปกติ การที่ร่างกายขาดอินซูลินหรือดื้อต่ออินซูลินจะทำให้กระบวนการที่เซลล์ต่างๆนำไขมันและโปรตีนไปใช้เกิดขัดข้องทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ

ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินกว่าความสามารถของไตที่จะเก็บกักน้ำตาลไว้ได้จนล้นหรือถูกขับออกมาทางปัสสาวะและจะดึงเอาน้ำออกมาพร้อมกับน้ำตาลด้วยทำให้ร่างกายต้องปัสสาวะบ่อยและจากการสูญเสียน้ำออกมาทางปัสสาวะจำนวนมากทำให้เกิดอาการคอแห้งและกระหายน้ำมากซึ่งนั่นคืออาการของโรคเบาหวานนั่นเอง.