08 กุมภาพันธ์ 2553

หมวดอาหารแลกเปลี่ยน (Food Exchange List) ช่วยควบคุมอาหารเพื่อควบคุมเบาหวาน

การควบคุมอาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมเบาหวานได้ การควบคุมอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับหมวดอาหารแลกเปลี่ยนเพื่อช่วยให้การควบคุมเบาหวานได้ผล หมวดอาหารแลกเปลี่ยนจะประกอบด้วยอาหารประเภทเดียวกันและมีคุณค่าทางโภชนาการที่ใกล้เคียงกันสามารถแลกเปลี่ยนทดแทนกันได้ภายในหมวดเดียวกัน

หมวดอาหารแลกเปลี่ยนแบ่งออกเป็น 6 หมวดคือ

1. หมวดแป้ง/ข้าว อาหารในหมวดนี้ 1 ส่วนจะมีคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม โปรตีน 3 กรัมกับไขมันอีกเล็กน้อย อาหารในหมวดแป้ง/ข้าวนี้ 1 ส่วนจะให้พลังงาน 80 กิโลแคลอรี ตัวอย่างเช่น ข้าวสวย/ข้าวเหนียว 1 ทัพพี(เล็ก) สามารถแลกเปลี่ยนกับ ก๋วยเตี๋ยว/เส้นหมี่/วุ้นเส้น/บะหมี่ อย่างใดอย่างหนึ่งในปริมาณ 1 ทัพพี

2. หมวดเนื้อสัตว์(โปรตีน) อาหารในหมวดนี้ 1 ส่วน (2 ช้อนโต๊ะ)จะให้โปรตีน 7 กรัม ส่วนพลังงานที่ได้จะขึ้นอยู่กับปริมาณไขมันที่มีอยู่ในเนื้อสัตว์ ตัวอย่างเช่น อาหารที่เนื้อล้วนไม่ติดมัน (ปลาต่างๆ) 30 กรัม สามารถแลกเปลี่ยนกับเนื้อปู 4 ช้อนโต๊ะ(60 กรัม) หรือหอยแครง 10 ตัวหรือลูกชิ้นหมู 6 ลูก

3. หมวดผัก จะมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตน้อยและให้พลังงานน้อย ผัก 1 ส่วน ให้คาร์โบไฮเดรต 5 กรัม โปรตีน 2 กรัม พลังงาน 25 กิโลแคลอรีและเส้นใยอาหาร 2-3 กรัม หากผู้ป่วยเบาหวานกินผักโดยไม่ใช้น้ำมันในการปรุงอาหารก็สามารถกินได้โดยไม่จำกัดปริมาณ ตัวอย่าง ผัก 1 ส่วนเท่ากับผักสุกครึ่งถ้วยตวงหรือผักสด 1 ถ้วยตวง

4. หมวดผลไม้ ผลไม้ 1 ส่วนจะให้คาร์โบไฮเดรต 15 กรัม พลังงาน 60 กิโลแคลอรี เส้นใยอาหารมากกว่า 2 กรัม ตัวอย่างเช่นผลไม้ 1 ส่วนจะเท่ากับมะละกอสุก 8 คำ หรือสับปะรด 1 วง(หนาครึ่งนิ้ว) หรือส้มโอ 3 กลีบเล็กหรือกล้วยหอม (9 นิ้ว) ครึ่งผล ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยงผลไม้เชื่อม ผลไม้บรรจุกระป๋องและผลไม้กวน

5. หมวดนม นม 1 ส่วนจะให้คาร์โบไฮเดรต 12 กรัม โปรตีน 8 กรัม สำหรับจำนวนพลังงานจะมากน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนไขมันเนยที่อยู่ในนม ตัวอย่างเช่น นมจืดไขมันเต็ม 1 ส่วน(240 มิลลิลิตร) จะเท่ากับนมจืดพร่องไขมัน 1 ส่วน(240 มิลลิลิตร) ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยงนมที่มีรสหวานทุกชนิด

6. หมวดไขมัน อาหารในหมวดนี้ 1 ส่วนเท่ากับน้ำมัน 1 ช้อนชา ให้ไขมัน 5 กรัมและพลังงาน 45 กิโลแคลอรี ตัวอย่างเช่น เนยเทียม 1 ช้อนชาจะเท่ากับ มายองเนส 1 ช้อนชาหรือน้ำสลัด 1 ช้อนโต๊ะหรือน้ำมันพืช 1 ช้อนชา ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกกินไขมันชนิดไม่อิ่มตัวแทนไขมันชนิดที่อิ่มตัว

ปริมาณอาหารในแต่ละวันที่ผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมในแต่ละหมวดอาหารแลกเปลี่ยนคือ หมวดข้าว/แป้ง ต้องวันละ 6-11 ส่วน หมวดโปรตีน มื้อละ 2-3 ส่วนวันละ 2-3 มื้อ หมวดผักวันละ 3-5 ส่วน หมวดผลไม้วันละ 2-4 ส่วน หมวดนมและผลิตภัณฑ์จากนม วันละ 2-3 ส่วน สำหรับหมวดไขมันหากหลีกเลี่ยงไม่กินเลยได้จะดีมาก ประโยชน์ของหมวดอาหารแลกเปลี่ยนจะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถจัดรายการอาหารของตนเองได้ ทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงรายการอาหารเพื่อลดความจำเจที่ต้องควบคุมอาหาร.