07 กุมภาพันธ์ 2553

การควบคุมอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน(Diabetes Nutrition guide)

การควบคุมอาหารหรือการปรับพฤติกรรมในการกินอาหารเป็นหัวใจสำคัญของการควบคุมเบาหวานเลยก็ว่าได้ การจะควบคุมเบาหวานให้ได้ผลต้องอาศัยทั้งการใช้ยารักษาเบาหวานควบคู่

กับการควบคุมอาหารจึงจะได้ผลดี การควบคุมอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานจึงเป็นการรู้จักเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกหมู่ในปริมาณที่พอเหมาะกับความต้องการของร่างกายและร่างกายต้องได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนอย่างมีความสมดุล

สำหรับผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1(ต้องพึ่งอินซูลิน) การควบคุมอาหารต้องยึดหลักของความสม่ำเสมอเป็นสำคัญเนื่องจากแพทย์จะคำนวณปริมาณอินซูลินที่จะฉีดให้ผู้ป่วยเบาหวานให้พอดีกับอาหารที่ผู้ป่วยจะกินและมีความสมดุลกับการทำกิจกรรมประจำวันด้วย ดังนั้นการควบคุมอาหารของผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 (Type 1 Diabetes) จะต้องกินอาหารให้ตรงเวลาในแต่ละวันและชนิดของอาหารรวมทั้งปริมาณของอาหารควรจะคล้ายๆกัน อินซูลินและอาหารที่กินเข้าไปจะทำงานควบคู่กันไปเพื่อปรับระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ถ้าการกินอาหารและอินซูลินไม่สมดุลกันจะส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงกว่าปกติได้ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้ป่วยเบาหวานอย่างแน่นอน

สำหรับผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 (ไม่พึ่งอินซูลิน) ผู้ป่วยมักจะมีน้ำหนักเกินหรืออ้วน การควบคุมอาหารจึงทำได้โดยการกินอาหารให้น้อยลงโดยเฉพาะอาหารจำพวกไขมัน กินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการควบคู่ไปกับการออกกำลังกายเป็นประจำก็จะช่วยให้สามารถควบคุมเบาหวานได้ดี

เวลาในการกินอาหารของผู้ป่วยเบาหวาน ควรกินอาหารหลังจากกินยาหรือฉีดอินซูลินแล้วประมาณ 30 นาทีให้สม่ำเสมอและตรงเวลา พยายามกินอาหารให้ตรงเวลาอย่างดอาหารมื้อหนึ่งแล้วไปกินเพิ่มในมื้อถัดไป ผู้ป่วยเบาหวานบางรายอาจมีการแบ่งการกินอาหารเป็นมื้อเล็กๆและมีอาหารว่างระหว่างมื้อแทนการกินอาหารมื้อใหญ่ 3 มื้อก็ได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความเห็นของแพทย์ แต่โดยรวมแล้วจำนวนแคลอรีที่ผู้ป่วยเบาหวานได้รับในแต่ละวันยังคงเท่าเดิม

ปริมาณในการกินอาหารของผู้ป่วยเบาหวาน แพทย์หรือนักโภชนาการจะคำนวณปริมาณอาหารของผู้ป่วยในแต่ละวันให้ออกมาเป็นจำนวนแคลอรีซึ่งจะนำมาจัดเป็นสัดส่วนของอาหารหมวดต่างๆในแต่ละมื้อ ทั้งนี้การคำนวณปริมาณอาหารที่จะกินในแต่ละมื้อยังต้องคำนึงถึงความแตกต่างของผู้ป่วยแต่ละคนเช่น อายุ น้ำหนักตัว เพศและกิจกรรมประจำวัน ที่ต้องนำมาร่วมพิจารณาในการกำหนดปริมาณอาหารของผู้ป่วยเบาหวานในแต่ละมื้อ

ผู้ป่วยเบาหวานต้องกินอาหารตามสัดส่วนที่แพทย์หรือนักโภชนาการกำหนดให้ทั้งในเรื่องชนิดและปริมาณอาหารที่ใช้ในการควบคุมเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานควรเรียนรู้เรื่องหมวดอาหารแลกเปลี่ยนเพื่อนำความรู้ไปใช้จัดรายการอาหารของตนเองเพื่อลดความเบื่อหน่ายหรือความจำเจในการกินอาหารควบคุมเบาหวานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยเบาหวาน.