12 กุมภาพันธ์ 2553

สาเหตุและปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดแผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน (Diabetic Foot Ulcer)

ผู้ป่วยเบาหวานมักมีอาการแทรกซ้อนหลายอย่าง โอกาสเกิดแผลที่เท้าและถูกตัดขาของผู้ป่วยเบาหวานมีมากกว่าคนปกติหลายเท่าตัว สาเหตุที่ทำให้เกิดแผลที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวานมีหลายสาเหตุที่มักเป็นปัจจัยส่งเสริมซึ่งกันและกัน เริ่มจากสาเหตุเล็กๆหรืออุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้เช่น การใส่รองเท้าคับเกินไปหรือการตัดเล็บเท้าลึกเกินไปทำให้เกิดแผลเล็กๆขึ้น หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคนปกติก็ไม่เกิดปัญหาอะไรแต่สำหรับผู้ป่วยเบาหวานแล้วแผลที่เกิดขึ้นจะหายได้ช้าและมีโอกาสติดเชื้อลุกลามจนเป็นอันตรายได้

ประสาทความรู้สึกเสื่อม ทำให้ร่างกายไม่สามารถรับรู้ถึงความเจ็บปวด ร้อน-เย็นได้ เมื่อเท้าเกิดเป็นบาดแผลผู้ป่วยเบาหวานมักไม่ให้ความสนใจและไม่หยุดใช้เท้าอาจเป็นเพราะไม่รู้สึกเจ็บปวด แผลที่เกิดขึ้นจึงอักเสบและลุกลามมากขึ้น ผู้ป่วยเบาหวานอาจเดินไปเหยียบของมีคมและถูกบาดโดยขาดความระมัดระวัง การที่แผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวานเกิดอาการชาจะเริ่มจากเชื้อราที่เท้า (ฮ่องกงฟุต) โรคเท้าเปื่อยและผู้ป่วยเบาหวานจะไม่มีความรู้สึกเจ็บหรือคันเนื่องจากประสาทรับความรู้สึกเสื่อม กว่าจะรู้ตัวอาการก็ลุกลามอักเสบรุนแรงทั้งอุ้งเท้าเสียแล้ว แต่หากผู้ป่วยรู้จักระวังดูแลสุขภาพและได้รับการรักษาที่ถูกต้องแผลก็จะหายเป็นปกติได้

ประสาทควบคุมกล้ามเนื้อเสื่อม เมื่อประสาทชนิดนี้เสื่อมสมรรถภาพก็จะทำให้กล้ามเนื้อที่เท้าค่อยๆลีบลงหรือกล้ามเนื้อที่เท้าไม่อยู่ในจุดสมดุล เท้าผิดรูป ปลายนิ้วเท้าจิกลงทำให้จุดรับน้ำหนักผิดไปและมีโอกาสที่จะเกิดเป็นตาปลาหรือเกิดเป็นแผลได้ง่ายขึ้น

ประสาทอัตโนมัติที่เกิดการเสื่อมจะเกี่ยวข้องกับการควบคุมการหลั่งของเหงื่อ การขยายตัวและหดตัวของหลอดเลือดมีปัญหาทำให้ผิวหนังแห้ง เหงื่อออกน้อยและผิวแตกได้ง่าย โดยเฉพาะจุดที่มีการพับงอบ่อยๆ เชื้อโรคอาจเข้าไปตามรอยแตกแล้วกลายเป็นแผลลุกลาม การเสื่อมของระบบประสาทอัตโนมัติอาจทำให้เท้าบวมจนคับรองเท้าและกลายเป็นแผลกดทับได้

ความผิดปกติของหลอดเลือด บางครั้งเส้นเลือดก็ตีบแข็งบางครั้งก็อุดตันซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งหลอดเลือดแดงใหญ่และหลอดเลือดฝอยจนทำให้เกิดแผลที่เท้าเนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อซึ่งจะพบมากที่ปลายนิ้วเท้าทั้งห้าหรือส้นเท้า การรักษาก็ทำได้ยากเนื่องจากไม่มีเส้นเลือดไปหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อทำให้ไม่เกิดการสมานแผลที่เน่า การตีบตันของหลอดเลือดในผู้ป่วยเบาหวานยังอาจเกิดขึ้นได้กับหลอดเลือดตามส่วนต่างๆของร่างกายเช่น หลอดเลือดหัวใจ สมองและปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการตีบตันเร็วขึ้นคือ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ ฯลฯ หากเกิดการตีบตันของเส้นเลือดต้องทำการฉีดสีดูว่าจะหาทางแก้ไขทำให้เลือดเดินดีขึ้นได้อย่างไร

การติดเชื้อแทรกซ้อน เท้าของผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นแผลมักมีการติดเชื้อร่วมด้วยเสมอ โดยเฉพาะการแทรกซ้อนของเชื้อแบคทีเรียทำให้แผลอักเสบจนเส้นเลือดฝอยอุดตันทำให้เนื้อเยื่อที่ขาดเลือดส่งกลิ่นเหม็นเน่าและหากมีภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือดและทางเส้นประสาทร่วมด้วยแล้ว โอกาสที่ผู้ป่วยเบาหวานจะได้รับการรักษาให้หายจะยากยิ่งขึ้นซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานต้องถึงกับสูญเสียขา.