16 กุมภาพันธ์ 2553

ประเภทและระยะเวลาในการออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวาน(Diabetes and Exercise)

ประเภทของการออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวานไม่ได้กำหนดตายตัวว่าผู้ป่วยเบาหวานจะต้องออกกำลังกายแบบใด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชอบและความถนัดเป็นส่วนตัวของผู้ป่วยเบาหวาน แต่หลักสำคัญของการออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวานคือ ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายประเภทที่ต้องออกแรงต้านมากๆเช่น การยกน้ำหนัก เพราะการออกกำลังกายที่ต้องออกแรงต้านมากๆอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือดและหัวใจได้

ประเภทของการออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวานที่ควรจะเป็นคือ การออกกำลังกายที่ทำให้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกายหลายๆส่วนได้เคลื่อนไหวและออกแรงพร้อมๆกันและต้องเป็นการออกกำลังกายที่ไม่ต้องใช้แรงต้านมาก ตัวอย่างการออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานคือ การเดินเร็วๆ การวิ่งเหยาะๆ และการว่ายน้ำ ฯลฯ ระยะเวลาในการออกกำลังกายควรเป็นครั้งละ 20-45 นาที ให้ผู้ป่วยเบาหวานพยายามทำให้ได้สม่ำเสมอทุกวันหรืออย่างน้อยที่สุดสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยเบาหวานมากที่สุด

ช่วงเวลาการออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวาน ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 (พึ่งอินซูลิน) การออกกำลังกายในช่วงบ่ายตั้งแต่ 15.00-17.00 น. เพื่อเป็นการป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขณะออกกำลังกายหรือหลังการออกกำลังกาย ผู้ป่วยเบาหวานควรกินอาหารว่างก่อนออกกำลังกายประมาณ 30-60 นาที เพราะช่วงนี้เป็นเวลาที่อินซูลินจะถูกดูดซึมได้เต็มที่และจะมีการออกฤทธิ์สูงสุด แต่หากผู้ป่วยเบาหวานต้องการออกกำลังกายในช่วงเวลาอื่นก็ให้ปฏิบัติในลักษณะเดียวกันเพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ข้อควรระวังในการออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวานคือ ในระหว่างการออกกำลังกายหากผู้ป่วยเบาหวานเกิดอาการดังต่อไปนี้ให้หยุดออกกำลังกายและปรึกษาแพทย์ทันที อาการดังกล่าวคือ หน้ามืด ตาพร่ามัว หิว เหงื่อออกมาก ใจสั่น เหนื่อยมากผิดปกติ เป็นแผลที่เท้า เจ็บแน่นที่หน้าอก.

การออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวานเป็นสิ่งจำเป็นแต่ก็ต้องทำด้วยความระมัดระวังเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยเบาหวานมักจะเป็นผู้สูงอายุที่ไม่สามารถออกกำลังกายที่หักโหมได้และผู้ป่วยเบาหวานแต่ละคนอาจมีโรคแทรกซ้อนที่ไม่เหมือนกันจึงมีความพร้อมในการออกกำลังกายที่แตกต่างกัน ทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเบาหวานที่สูงอายุคือ การทำกายบริหารซึ่งจะช่วยบริหารกล้ามเนื้อและยืดหยุ่นข้อต่อต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นผลดีต่อสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานและดีกว่าการไม่ออกกำลังกายเลย แต่หากผู้ป่วยเบาหวานสามารถออกกำลังกายโดยเล่นกีฬาที่ชอบได้ย่อมส่งผลดีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้ป่วยเบาหวานเอง.