26 มกราคม 2553

การออกกำลังกายกับเบาหวาน (Exercise and Diabetes)

ดังที่ทราบกันแล้วว่า การควบคุมเบาหวานก็คือการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติที่นอกจากจะทำได้โดยการควบคุมอาหารแล้วยังสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อีกวิธีคือ การออกกำลังกาย ซึ่งจะส่งผลดีต่อระดับน้ำตาลในเลือดและยังมีประโยชน์อีกหลายประการจากการออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวาน แต่ถึงกระนั้นการออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวานก็มีข้อควรระวังด้วยเช่นกัน

ขณะออกกำลังกายร่างกายจำเป็นต้องใช้พลังงานในการเคลื่อนไหวร่างกายและแหล่งของพลังงานที่ที่สำคัญที่สุดก็คือน้ำตาลนั่นเอง หากผู้ป่วยเบาหวานออกกำลังกายได้อย่างพอดีร่างกายจะเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้กลายเป็นพลังงานในปริมาณที่มากพอจนสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดลงได้ การออกกำลังกายยังมีผลดีต่อผู้ป่วยเบาหวานคือทำให้เนื้อเยื่อของร่างกายมีความไวต่อฮอร์โมนอินซูลินมากขึ้นซึ่งจะเป็นผลให้ร่างกายสามารถใช้น้ำตาลได้มากขึ้นด้วยอินซูลินในปริมาณที่เท่าเดิม

การออกกำลังกายยังทำให้ร่างกายแข็งแรง น้ำหนักตัวลดลงและช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ทำให้สามารถควบคุมเบาหวานได้ง่ายขึ้น สุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยเบาหวานก็จะดีขึ้นอารมณ์แจ่มใสขึ้น การออกกำลังกายยังช่วยลดคลอเรสเตอรอลในเลือดให้ต่ำลงได้ทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดและเส้นเลือดหัวใจอุดตันน้อยลง

ข้อควรระวังในการออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวาน หากผู้ป่วยเบาหวานยังควบคุมเบาหวานได้ไม่ดีพอการออกกำลังกายที่ไม่ถูกต้องและหักโหมเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะกรดคั่งในเลือดได้(สารคีโทน) ผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการปลายประสาทเสื่อมที่อาจมีบาดแผลจากการออกกำลังกายโดยไม่รู้ตัวควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ส่งแรงกระแทกหนักๆไปที่เท้า ส่วนผู้ป่วยเบาหวานที่อาจมีโรคแทรกซ้อนจากหลอดเลือดหัวใจตีบหากออกกำลังกายมากเกินไปจะทำให้เกิดภาวะหัวขาดเลือด แน่นหน้าอกและหัวใจเต้นผิดปกติซึ่งเป็นอันตรายที่ร้ายแรงมาก

แม้ว่าการออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวานเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่การเริ่มต้นความเริ่มจากการควบคุมเบาหวานให้ดีเสียก่อนและก่อนออกกำลังกายควรปรึกษาแพทย์โดยการตรวจให้แน่ใจก่อนว่าผู้ป่วยเบาหวานไม่มีปัญหาเกี่ยวกับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ การออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวานควรมีการวางแผนแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่าหักโหมและทุกอย่างควรอยู่ในความดูแลของแพทย์เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพควบคู่ไปกับความปลอดภัย.