แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ การรักษาโรคเบาหวาน แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ การรักษาโรคเบาหวาน แสดงบทความทั้งหมด

04 พฤศจิกายน 2553

การรักษาโรคเบาหวานขึ้นตาด้วยวิธียิงแสงเลเซอร์(Laser for diabetic retinopathy)

เบาหวานขึ้นตา(Diabetic Retinopathy) เป็นผลแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่เกิดจากการไม่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่ตลอดเวลาจนทำให้มีเลือดออกบริเวณจอรับภาพในตาซึ่งอาการอาจลุกลามรุนแรงจนทำให้ตาบอดได้ สาเหตุจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนทำให้เส้นเลือดฝอยที่ไปเลี้ยงประสาทตาเกิดการอุดตันทำให้ร่างกายสร้างเส้นเลือดขึ้นมาเพื่อทดแทนเส้นเลือดเดิมที่เกิดการอุดตัน

อาการเบาหวานขึ้นตาเมื่อเป็นถึงระดับที่มีเส้นเลือดฝอยเกิดขึ้นใหม่ซึ่งต้องรักษาด้วยวิธีการยิงแสงเลเซอร์ที่จอตาจะช่วยลดระดับความรุนแรงของโรคที่เกิดกับจอตาได้ แสงเลเซอร์จะถูกเลือกยิงไปยังส่วนต่างๆของจอตาที่เกิดการอุดตันของเส้นเลือดเฉพาะในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรับภาพหลักเพื่อหยุดการเจริญเติบโตของเส้นเลือดที่ผิดปกติ

การรักษาโรคเบาหวานขึ้นตาโดยวิธียิงแสงเลเซอร์นั้น(Laser for diabetic retinopathy) ควรทำในระยะที่เลือดในตายังออกมาไม่มากจนถึงขั้นบังประสาทตา หากผู้ป่วยที่มีอาการเบาหวานขึ้นจอตาแล้วแต่ยังไม่มีเลือดออกมาบังตาแพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยการยิงแสงเลเซอร์ซึ่งเป็นระยะของโรคที่การรักษาจะได้ผลดีที่สุดเนื่องจากการมองเห็นของผู้ป่วยในระยะนี้ยังลดลงไม่มากเมื่อรักษาด้วยการยิงแสงเลเซอร์จะเป็นการกำจัดและป้องกันการลุกลามของโรคในระยะต่อไปได้

แต่ในทางปฏิบัติเนื่องจากผู้ป่วยในระยะที่เบาหวานขึ้นจอตาแต่ยังไม่มีเลือดออกมาบังตายังมีการมองเห็นที่ดีอยู่ เมื่อจักษุแพทย์แนะนำให้รักษาด้วยการยิงแสงเลเซอร์มักได้รับการปฏิเสธจากผู้ป่วย ผู้ป่วยควรรับฟังการอธิบายจากแพทย์อย่างละเอียดและทำความเข้าใจว่าหากผู้ป่วยไม่ยอมรักษาด้วยการยิงแสงเลเซอร์และปล่อยให้อาการของโรคลุกลามต่อไปกว่าจะมาพบแพทย์ก็เป็นระยะที่มีเลือดออกในตามากแล้ว(การมองเห็นจะลดลงมาก) นั่นจะทำให้การรักษายากขึ้นเพราะแพทย์ต้องผ่าตัดเอาเลือดที่ออกในลูกตาออกก่อนแล้วจึงรักษาด้วยการยิงแสงเลเซอร์ หากผู้ป่วยยอมรับการรักษา(ยิงเลเซอร์)ตั้งแต่ระยะที่ยังไม่มีเลือดออกมาบังตาจะทำให้การรักษาได้ผลดีกว่า

ผลการรักษาเบาหวานขึ้นตา(Diabetic Retinopathy) หลังจากการผ่าตัดและยิงแสงเลเซอร์แล้วจะได้ผลมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับระยะของโรคว่าลุกลามไปแค่ไหนแล้ว ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อนผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการตรวจตาอย่างละเอียดอย่างน้อยปีละครั้งแม้ว่าจะไม่มีความผิดปกติทางด้านสายตาก็ตาม เมื่อตรวจพบว่าเบาหวานเริ่มขึ้นประสาทตาแล้วการนัดมาตรวจอาจจะต้องเพิ่มความถี่มากขึ้นจนเมื่ออาการของโรคเข้าใกล้ระยะอันตรายแล้วจักษุแพทย์ก็จะแนะนำให้รักษาด้วยการยิงแสงเลเซอร์ในระยะของโรคที่เหมาะสม

26 กุมภาพันธ์ 2553

การดูแลสุขภาพเท้าของผู้ป่วยเบาหวาน (Foot Health and Diabetes)

สุขภาพเท้าของผู้ป่วยเบาหวานมีความสำคัญมาก การดูแลเท้าของผู้ป่วยเบาหวานมีจุดประสงค์ที่สำคัญคือป้องกันไม่ให้เกิดแผลกับเท้าของผู้ป่วยเบาหวานโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคแทรกซ้อนทั้งหลอดเลือดและระบบประสาท หากละเลยไม่ดูแลสุขภาพให้ดีอาจทำให้กลายเป็นปัญหาใหญ่ตามมาได้ในภายหลัง

ผู้ป่วยเบาหวานจะสูญเสียความรู้สึกในระดับที่แตกต่างกันอันเกิดจากการเสื่อมลงของปลายประสาทที่รับความรู้สึก ผู้ป่วยบางคนอาจเดินไปเตะถูกของแข็งจนเป็นแผลแล้วไม่รู้สึกเจ็บ บางคนอาจเดินไปเหยียบตะปูหรือของมีคมก็ไม่รู้สึกเจ็บ บางคนเดินๆไปรองเท้าหลุดไปจากเท้าแล้วก็ยังไม่รู้สึกหากปล่อยให้ผู้ป่วยเบาหวานเดินเท้าเปล่าต่อไปก็อาจทำให้เท้าเกิดบาดแผลขึ้นได้ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยเบาหวาน

ผู้ป่วยเบาหวานที่มีบาดแผลแล้วแผลจะหายช้าเนื่องจากการตีบตันของหลอดเลือดที่ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกายได้โดยเฉพาะเท้า หลอดเลือดแดงเป็นเส้นทางที่ยาและอาหารถูกลำเลียงไปยังบริเวณที่เกิดบาดแผลและยังเป็นทางกำจัดของเสียจากบาดแผลอีกด้วย วิธีสังเกตว่าผู้ป่วยเบาหวานมีปัญหาเกิดขึ้นกับหลอดเลือดคือ อาการปวดขาขณะเดินและอาการนั้นจะหายไปเมื่อหยุดพักสักครู่หนึ่ง

สิ่งที่ผู้ป่วยเบาหวานควรให้ความระมัดระวังคือ อย่าเดินเท้าเปล่าโดยเด็ดขาดไม่ว่าจะอยู่ในบ้านก็ตามให้ใส่รองเท้าแตะขณะอยู่ในบ้านเพราะผู้ป่วยเบาหวานอาจเดินไปเหยียบเศษวัสดุต่างๆที่อาจทำให้เกิดแผลที่เท้าได้โดยไม่รู้ตัว การใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบขาหรือการแช่เท้าในน้ำอุ่นจัดๆของผู้ป่วยเบาหวานก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเพราะปลายประสาทที่เสื่อมอาจทำให้ผู้ป่วยเบาหวานไม่รู้สึกตัวเมื่อถูกน้ำร้อนลวกจนเท้าพองและเป็นแผลได้

ผู้ป่วยเบาหวานควรงดจากการสูบบุหรี่เพราะจะทำให้การไหลเวียนของเลือดลดลง เส้นเลือดจะอุดตันเนื่องจากการสูบบุหรี่ หากมีหนังแข็งหรือตาปลาเกิดขึ้นบริเวณเท้าไม่ควรตัดออกเองควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา เนื่องจากเท้าเป็นอวัยวะที่ต้องใช้เดินและสัมผัสกับพื้นตลอดเวลาจึงทำให้มีโอกาสที่จะเกิดบาดแผลได้มาก ผู้ป่วยเบาหวานควรหมั่นตรวจดูเท้าของตนเองเป็นประจำ อย่าปล่อยให้เกิดแผลกับเท้าได้โดยเด็ดขาดเพราะเป็นที่รู้กันดีว่าผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นแผลแล้วจะหายช้าและมีโอกาสติดเชื้อลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้เลย.

07 กุมภาพันธ์ 2553

การควบคุมอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน(Diabetes Nutrition guide)

การควบคุมอาหารหรือการปรับพฤติกรรมในการกินอาหารเป็นหัวใจสำคัญของการควบคุมเบาหวานเลยก็ว่าได้ การจะควบคุมเบาหวานให้ได้ผลต้องอาศัยทั้งการใช้ยารักษาเบาหวานควบคู่

กับการควบคุมอาหารจึงจะได้ผลดี การควบคุมอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานจึงเป็นการรู้จักเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกหมู่ในปริมาณที่พอเหมาะกับความต้องการของร่างกายและร่างกายต้องได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนอย่างมีความสมดุล

สำหรับผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1(ต้องพึ่งอินซูลิน) การควบคุมอาหารต้องยึดหลักของความสม่ำเสมอเป็นสำคัญเนื่องจากแพทย์จะคำนวณปริมาณอินซูลินที่จะฉีดให้ผู้ป่วยเบาหวานให้พอดีกับอาหารที่ผู้ป่วยจะกินและมีความสมดุลกับการทำกิจกรรมประจำวันด้วย ดังนั้นการควบคุมอาหารของผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 (Type 1 Diabetes) จะต้องกินอาหารให้ตรงเวลาในแต่ละวันและชนิดของอาหารรวมทั้งปริมาณของอาหารควรจะคล้ายๆกัน อินซูลินและอาหารที่กินเข้าไปจะทำงานควบคู่กันไปเพื่อปรับระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ถ้าการกินอาหารและอินซูลินไม่สมดุลกันจะส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงกว่าปกติได้ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้ป่วยเบาหวานอย่างแน่นอน

สำหรับผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 (ไม่พึ่งอินซูลิน) ผู้ป่วยมักจะมีน้ำหนักเกินหรืออ้วน การควบคุมอาหารจึงทำได้โดยการกินอาหารให้น้อยลงโดยเฉพาะอาหารจำพวกไขมัน กินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการควบคู่ไปกับการออกกำลังกายเป็นประจำก็จะช่วยให้สามารถควบคุมเบาหวานได้ดี

เวลาในการกินอาหารของผู้ป่วยเบาหวาน ควรกินอาหารหลังจากกินยาหรือฉีดอินซูลินแล้วประมาณ 30 นาทีให้สม่ำเสมอและตรงเวลา พยายามกินอาหารให้ตรงเวลาอย่างดอาหารมื้อหนึ่งแล้วไปกินเพิ่มในมื้อถัดไป ผู้ป่วยเบาหวานบางรายอาจมีการแบ่งการกินอาหารเป็นมื้อเล็กๆและมีอาหารว่างระหว่างมื้อแทนการกินอาหารมื้อใหญ่ 3 มื้อก็ได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความเห็นของแพทย์ แต่โดยรวมแล้วจำนวนแคลอรีที่ผู้ป่วยเบาหวานได้รับในแต่ละวันยังคงเท่าเดิม

ปริมาณในการกินอาหารของผู้ป่วยเบาหวาน แพทย์หรือนักโภชนาการจะคำนวณปริมาณอาหารของผู้ป่วยในแต่ละวันให้ออกมาเป็นจำนวนแคลอรีซึ่งจะนำมาจัดเป็นสัดส่วนของอาหารหมวดต่างๆในแต่ละมื้อ ทั้งนี้การคำนวณปริมาณอาหารที่จะกินในแต่ละมื้อยังต้องคำนึงถึงความแตกต่างของผู้ป่วยแต่ละคนเช่น อายุ น้ำหนักตัว เพศและกิจกรรมประจำวัน ที่ต้องนำมาร่วมพิจารณาในการกำหนดปริมาณอาหารของผู้ป่วยเบาหวานในแต่ละมื้อ

ผู้ป่วยเบาหวานต้องกินอาหารตามสัดส่วนที่แพทย์หรือนักโภชนาการกำหนดให้ทั้งในเรื่องชนิดและปริมาณอาหารที่ใช้ในการควบคุมเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานควรเรียนรู้เรื่องหมวดอาหารแลกเปลี่ยนเพื่อนำความรู้ไปใช้จัดรายการอาหารของตนเองเพื่อลดความเบื่อหน่ายหรือความจำเจในการกินอาหารควบคุมเบาหวานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยเบาหวาน.

04 กุมภาพันธ์ 2553

อินซูลิน (Insulin Preparations) ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด

ปัจจุบันยาที่ใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือดมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกันคือ 1.ยาฉีดอินซูลิน (Insulin Preparations) 2. ยากิน (Oral Hypoglycemic Agents) ยาฉีดอินซูลินใช้ในผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 และเบาหวานประเภทที่ 2 ที่ไม่สามารถควบคุมเบาหวานได้โดยการกินยา การควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย อินซูลินจะได้มาจาก 2 แหล่งคือ การสกัดจากตับอ่อนของหมูและวัว อีกแหล่งคือการสังเคราะห์จากวิธีทางพันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) โดยทั่วไปใน 1 มิลลิลิตร(ซีซี)ของยาจะมีอินซูลิน 100 ยูนิต ซึ่งเรียกว่า ยู 100 อินซูลิน ( U 100 Insulin)

อินซูลินสามารถจำแนกตามการออกฤทธิ์ของอินซูลินได้เป็น 4 ชนิดคือ

1. อินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็วมาก (Rapid-acting Insulin) อินซูลินชนิดนี้ถูกเรียกว่า อินซูลินชนิดน้ำใส (ตามลักษณะทางกายภาพของยา) ใช้ฉีดในเวลาที่ต้องการลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหาร เมื่อฉีดอินซูลินเข้าใต้ผิวหนังจะออกฤทธิ์เร็วภายใน 10-15 นาทีและมีฤทธิ์อยู่นาน 3-5 ชั่วโมง

2. อินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็วและสั้น (Short-acting Insulin) ใช้ฉีดก่อนอาหารครึ่งชั่วโมงเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลหลังอาหารหรือใช้ฉีดเมื่อมีภาวะกรดคั่งในเลือดจากสารคีโทน เมื่อฉีดอินซูลินชนิดนี้เข้าใต้ผิวหนังจะออกฤทธิ์ในเวลา 30-60 นาทีและมีฤทธิ์อยู่นาน 5-7 ชั่วโมง

3. อินซูลินชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง (Intermediate-acting Insulin) อินซูลินชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นน้ำสีขาวขุ่นจึงมักเรียกกันว่า อินซูลินชนิดน้ำขุ่น โดยทั่วไปจะใช้เป็นอินซูลินตัวหลักในการรักษาโรคเบาหวานโดยฉีดเข้าใต้ผิวหนังวันละ 1-2 ครั้ง หลังฉีดอินซูลินแล้วจะออกฤทธิ์ในเวลา 2-4 ชั่วโมงและมีฤทธิ์อยู่นาน 18-24 ชั่วโมง

4. อินซูลินชนิดออกฤทธิ์ยาว (Long-acting Insulin) มีลักษณะเป็นน้ำใสใช้เพื่อปรับระดับอินซูลินในเลือดให้สูงขึ้นในปริมาณหนึ่งตลอดวันและป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เมื่อฉีดอินซูลินชนิดออกฤทธิ์ยาวเข้าใต้ผิวหนังอินซูลินจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 2 ชั่วโมงและมีฤทธิ์นาน 24 ชั่วโมง

อินซูลินที่มีขายอยู่ในปัจจุบันจะมีราคาแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ของอินซูลิน อินซูลินที่บริสุทธิ์ไม่มีสารปนเปื้อนจะมีราคาแพงและคุณภาพดีกว่าโดยผู้ใช้จะเกิดอาการแพ้และแอนตี้บอดี้ (Antibody) ได้น้อยกว่าซึ่งหากเกิดแอนตี้บอดี้จะเป็นสาเหตุให้ต้องเพิ่มขนาดอินซูลินมากขึ้นเมื่อใช้ไประยะหนึ่ง.