20 กุมภาพันธ์ 2554

โรคไตวาย ความรู้เกี่ยวกับโรคไต (Kidney Disease)

ไต (Kidney) เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของคนเรา ไตเป็นอวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่ว อยู่ทางด้านหลังนอกช่องท้อง โดยปกติแล้วคนๆหนึ่งจะมีไต 2 ข้าง ไตแต่ละข้างจะประกอบด้วยหน่วยไตหนึ่งล้านหน่วยโดยประมาณและในแต่ละหน่วยไตจะประกอบด้วยตัวกรองและหลอดไต (Kidney Tubule) หน่วยไตทั้งหมดประมาณสองล้านหน่วย(รวมทั้ง 2 ข้าง) จะทำหน้าที่กรอง ดูดซึมและคัดหลั่งสารต่างๆจนกระทั่งขับทิ้งออกจากร่างกายไปกับน้ำปัสสาวะวันละประมาณ 1 ลิตร

หน้าที่ของไตที่สำคัญมี 2 ประการคือ 1.ทำหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกายและควบคุมระดับเกลือแร่ในร่างกายให้อยู่ในระดับปกติ 2.ไตมีหน้าที่สร้างฮอร์โมน (Hormone) และสารต่างๆ ฮอร์โมนที่สำคัญที่คอยกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดงคือฮอร์โมนเออริโทรพอยเอติน (Erythropoietin)

หลายๆ คนเคยรู้มาว่า คนเราสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติด้วยการมีไตเพียงข้างเดียว ดังนั้นคนที่ป่วยเป็นโรคไตจนถึงขั้นภาวะไตวายนั้นหมายถึงการเกิดความผิดปกติกับการทำงานของไตทั้ง 2 ข้าง ซึ่งชนิดของไตวายนั้นอาจเป็นได้ทั้ง “ไตวายเฉียบพลัน” (Acute renal failure) หรือ “ไตวายเรื้อรัง” (chronic renal failure) ผลลัพธ์ของร่างกายที่เกิดภาวะไตวายคือการมีน้ำ ของเสียและเกลือแร่ต่างๆคั่งค้างอยู่ในกระแสเลือด ไขกระดูกที่ทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดแดงก็สร้างเม็ดเลือดได้น้อยลงทำให้ร่างกายเกิดภาวะซีด ถ้าเราสามารถแก้ไขที่สาเหตุของโรคได้จะทำให้ไตสามารถกลับมาทำหน้าที่ได้เหมือนเดิม (ไตวายเฉียบพลัน) แต่สำหรับกรณีไตวายเรื้อรังถึงแม้เราจะแก้ไขสาเหตุของโรคแล้วแต่การเสื่อมหน้าที่ของไตยังคงมีอยู่และคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนเข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรังในระยะสุดท้าย

การวัดระดับการทำงานของไต ทำได้โดยการตรวจเลือดแล้ววัดค่า 2 ค่าในเลือดคือ 1.ค่ายูเรียไนโตรเจนในเลือด (Blood Urea Nitrogen) 2.ค่าครีเอตินีม (Creatinine) ค่า BUN (Blood Urea Nitrogen) จะแสดงให้เห็นถึงระดับของเสียที่เกิดจากการย่อยสลายโปรตีนและคั่งค้างอยู่ในเลือดซึ่งค่าปกติจะอยู่ที่ 10-20 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หากประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลงก็จะมีของเสียคั่งค้างอยู่ในเลือดมากขึ้นทำให้ค่าบียูเอ็นสูงขึ้น ส่วนค่าครีเอตินีมแสดงถึงการทำงานของไต หากประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลงจะทำให้ค่าครีเอตินีมในเลือดสูงขึ้น กล่าวโดยสรุปคือหากการทำงานของไตลดลง (ไตเสื่อม) จะทำให้ทั้งค่าบียูเอ็นและค่าครีเอตินีมในเลือดสูงขึ้น

ภาวะไตวายเฉียบพลัน (Acute renal failure) มีสาเหตุสำคัญคือภาวะที่เลือดไปเลี้ยงไตลดลง การได้รับสารพิษหรือยาที่ทำให้เกิดพิษกับไต ส่วนภาวะไตวายเรื้อรังมีสาเหตุสำคัญจากการอักเสบเรื้อรังของตัวกรองไตหรือหลอดไต โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus) โรคไตจากความดันโลหิตสูง การอุดตันของระบบทางเดินปัสสาวะ (จากต่อมลูกหมากหรือก้อนนิ่ว) โรคเกาต์ โรคไตซึ่งเกิดจากการกินยาแก้ปวดเป็นระยะเวลานานและโรคเอสแอลอี (SLE)