แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ โรคแทรกซ้อนจากเบาหวาน แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ โรคแทรกซ้อนจากเบาหวาน แสดงบทความทั้งหมด

20 เมษายน 2554

โรคหลอดเลือดแดงอุดตัน (Atherosclerosis) และการป้องกัน

โรคหลอดเลือดแดงอุดตัน (Atherosclerosis) มักจะพบได้บ่อยร่วมกับภาวะเส้นเลือดสมองตีบหรือภาวะหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบโดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่สูบบุหรี่จัดหรือคนที่มีความดันโลหิตสูง การตรวจเช็คความยืดหยุ่นของหลอดเลือดและการตรวจเช็คการอุดตันของหลอดเลือดแดงสามารถตรวจสอบได้ด้วยเทคโนโลยีที่วงการแพทย์ยอมรับและเชื่อถือคือ ABI (Ankle-Brachial Index) และ PWV (Pulse Wave Velocity) เป็นการตรวจเช็คหลายๆจุดของร่างกายพร้อมกันเพื่อค้นหาการอุดตันของหลอดเลือดแดง การตรวจร่างกายด้วย ABI นี้สามารถนำไปสู่การตรวจพบโรคอื่นๆที่สำคัญอีกด้วย

หลอดเลือดในร่างกายของคนเราก็เปรียบเหมือนกับท่อน้ำที่เมื่อใช้งานไปนานๆแล้วท่อน้ำก็จะเกิดตะกอนหรือสนิมจับตามผนังท่อน้ำทำให้ขนาดของท่อตีบลงหรือเล็กลง กระแสน้ำที่เคยไหลได้คล่องกลับไหลได้เบาลงกว่าน้ำจะไหลไปถึงปลายทางก็แทนจะไม่มีแรงดันของน้ำเหลืออยู่เลย

หลอดเลือดของคนก็เช่นเดียวกันหากเกิดการตีบ (Stenosis) หรืออุดตัน (Occlusion) เมื่อใดหน้าที่ในการนำเลือดไปสู่อวัยวะต่างๆของร่างกายก็จะน้อยลงๆ อวัยวะต่างๆก็จะได้รับเลือดไปหล่อเลี้ยงน้อยลงด้วย หากสถานการณ์เช่นนี้เกิดกับอวัยวะส่วนที่สำคัญของร่างกายเช่น แขน ขา สมอง หัวใจ ฯลฯ ก็จะส่งผลอย่างรุนแรงต่ออวัยวะส่วนนั้นๆเช่น แขน ขาเกิดอาการหมดแรง เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ฯลฯ

หลอดเลือดแดงที่ตีบแคบหรืออุดตัน เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่โรคหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมองซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากที่สุดของโรคระบบประสาทซึ่งโรคนี้เป็นสาเหตุทำให้พิการ เป็นอัมพาตหรือเสียชีวิต ส่วนโรคหลอดเลือดส่วนกลางมักเกิดอาการกับอวัยวะเช่น แขน ขา ทำให้มีอาการปวดและมีความเสี่ยงที่จะต้องถูกตัดแขนหรือขาได้ โรคต่างๆเหล่านี้สามารถป้องกันได้หากมีการเฝ้าระวังและรักษาทันทีที่ตรวจพบเสียแต่เนิ่นๆ

การป้องกันภาวะหลอดเลือดแดงแข็งหรืออุดตัน (Atherosclerosis) ปัจจัยสำคัญคือเรื่องอาหารการกินและพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค ให้งดบุหรี่-เหล้าโดยเด็ดขาดและพยายามควบคุมระดับไขมันชนิดต่างๆในเลือด ระดับความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ พยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ให้เลือกกินอาหารที่มีไขมันและคลอเรสเทอรอลต่ำเช่น ไข่ขาว เนื้อปลา นมพร่องมันเนย ผักและผลไม้ เปลี่ยนวิธีการปรุงอาหารจากการใช้น้ำมันปรุงอาหาร (ทอด-ผัด) เป็นวิธีปรุงอาหารที่ไม่ใช้น้ำมันในการปรุงเช่น การต้ม นึ่ง ย่างหรืออบ หากอดไม่ได้หรือจำเป็นที่จะต้องกินอาหารทอดให้ทอดโดยใช้น้ำมันถั่วเหลือง

นอกจากการดูแลตัวเองเรื่องอาหารการกินแล้ว สิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารคือการออกกำลังกายให้ออกกำลังกายแบบต่อเนื่องประมาณครึ่งชั่วโมงต่อวันโดยพยายามทำให้ได้อย่างน้อยที่สุด 3 วัน/สัปดาห์เช่น การเต้นแอโรบิค การวิ่งจ๊อกกิ้ง ว่ายน้ำหรือการเดินเร็ว นอกจากนี้ควรควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและเข้ารับการตรวจสุขภาพหรือตรวจเช็คความยืดหยุ่นของหลอดเลือดเป็นระยะๆตามคำแนะนำของแพทย์

20 กุมภาพันธ์ 2554

โรคไตวาย ความรู้เกี่ยวกับโรคไต (Kidney Disease)

ไต (Kidney) เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของคนเรา ไตเป็นอวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่ว อยู่ทางด้านหลังนอกช่องท้อง โดยปกติแล้วคนๆหนึ่งจะมีไต 2 ข้าง ไตแต่ละข้างจะประกอบด้วยหน่วยไตหนึ่งล้านหน่วยโดยประมาณและในแต่ละหน่วยไตจะประกอบด้วยตัวกรองและหลอดไต (Kidney Tubule) หน่วยไตทั้งหมดประมาณสองล้านหน่วย(รวมทั้ง 2 ข้าง) จะทำหน้าที่กรอง ดูดซึมและคัดหลั่งสารต่างๆจนกระทั่งขับทิ้งออกจากร่างกายไปกับน้ำปัสสาวะวันละประมาณ 1 ลิตร

หน้าที่ของไตที่สำคัญมี 2 ประการคือ 1.ทำหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกายและควบคุมระดับเกลือแร่ในร่างกายให้อยู่ในระดับปกติ 2.ไตมีหน้าที่สร้างฮอร์โมน (Hormone) และสารต่างๆ ฮอร์โมนที่สำคัญที่คอยกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดงคือฮอร์โมนเออริโทรพอยเอติน (Erythropoietin)

หลายๆ คนเคยรู้มาว่า คนเราสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติด้วยการมีไตเพียงข้างเดียว ดังนั้นคนที่ป่วยเป็นโรคไตจนถึงขั้นภาวะไตวายนั้นหมายถึงการเกิดความผิดปกติกับการทำงานของไตทั้ง 2 ข้าง ซึ่งชนิดของไตวายนั้นอาจเป็นได้ทั้ง “ไตวายเฉียบพลัน” (Acute renal failure) หรือ “ไตวายเรื้อรัง” (chronic renal failure) ผลลัพธ์ของร่างกายที่เกิดภาวะไตวายคือการมีน้ำ ของเสียและเกลือแร่ต่างๆคั่งค้างอยู่ในกระแสเลือด ไขกระดูกที่ทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดแดงก็สร้างเม็ดเลือดได้น้อยลงทำให้ร่างกายเกิดภาวะซีด ถ้าเราสามารถแก้ไขที่สาเหตุของโรคได้จะทำให้ไตสามารถกลับมาทำหน้าที่ได้เหมือนเดิม (ไตวายเฉียบพลัน) แต่สำหรับกรณีไตวายเรื้อรังถึงแม้เราจะแก้ไขสาเหตุของโรคแล้วแต่การเสื่อมหน้าที่ของไตยังคงมีอยู่และคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนเข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรังในระยะสุดท้าย

การวัดระดับการทำงานของไต ทำได้โดยการตรวจเลือดแล้ววัดค่า 2 ค่าในเลือดคือ 1.ค่ายูเรียไนโตรเจนในเลือด (Blood Urea Nitrogen) 2.ค่าครีเอตินีม (Creatinine) ค่า BUN (Blood Urea Nitrogen) จะแสดงให้เห็นถึงระดับของเสียที่เกิดจากการย่อยสลายโปรตีนและคั่งค้างอยู่ในเลือดซึ่งค่าปกติจะอยู่ที่ 10-20 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หากประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลงก็จะมีของเสียคั่งค้างอยู่ในเลือดมากขึ้นทำให้ค่าบียูเอ็นสูงขึ้น ส่วนค่าครีเอตินีมแสดงถึงการทำงานของไต หากประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลงจะทำให้ค่าครีเอตินีมในเลือดสูงขึ้น กล่าวโดยสรุปคือหากการทำงานของไตลดลง (ไตเสื่อม) จะทำให้ทั้งค่าบียูเอ็นและค่าครีเอตินีมในเลือดสูงขึ้น

ภาวะไตวายเฉียบพลัน (Acute renal failure) มีสาเหตุสำคัญคือภาวะที่เลือดไปเลี้ยงไตลดลง การได้รับสารพิษหรือยาที่ทำให้เกิดพิษกับไต ส่วนภาวะไตวายเรื้อรังมีสาเหตุสำคัญจากการอักเสบเรื้อรังของตัวกรองไตหรือหลอดไต โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus) โรคไตจากความดันโลหิตสูง การอุดตันของระบบทางเดินปัสสาวะ (จากต่อมลูกหมากหรือก้อนนิ่ว) โรคเกาต์ โรคไตซึ่งเกิดจากการกินยาแก้ปวดเป็นระยะเวลานานและโรคเอสแอลอี (SLE)

02 มีนาคม 2553

ภาวะการติดเชื้อ (Infections) ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน (Diabetes)

ผู้ป่วยเบาหวานจะมีภูมิคุ้มกันที่ลดต่ำลงในแทบจะทุกระบบของร่างกาย จึงทำให้ผู้ป่วยเบาหวานอาจเกิดการติดเชื้อโรคได้ง่ายและภาวะการติดเชื้อบางอย่างก็จะลุกลามได้อย่างรวดเร็วจนทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยเบาหวานได้ ภาวะการติดเชื้อที่พบได้บ่อยและเป็นปัญหาในผู้ป่วยเบาหวานมีดังนี้

การติดเชื้อในปอดของผู้ป่วยเบาหวาน ที่พบมากคือวัณโรคปอด ผู้ป่วยเบาหวานอาจมีอาการไอเรื้อรัง อ่อนเพลีย มีไข้ เบื่ออาหารและน้ำหนักลด การรักษาให้ทำตามคำแนะนำของแพทย์คือกินยาให้ครบถ้วนตามที่แพทย์สั่งก็จะทำให้อาการดีขึ้น

การติดเชื้อบริเวณใต้ผิวหนัง มักเกิดการอักเสบบริเวณชั้นผิวหนังจนเป็นตุ่มฝี ตุ่มหนอง ควรติดตามผลการรักษาอย่างใกล้ชิด หากปล่อยปละละเลยอาจทำให้ภาวะการติดเชื้อที่ผิวหนังลุกลามไปได้อย่างรวดเร็ว

ภาวะเนื้อตายเน่าของผู้ป่วยเบาหวาน เกิดจากการที่ผู้ป่วยเบาหวานได้รับอุบัติเหตุเล็กน้อยจนเกิดบาดแผลแล้วมีอาการอักเสบ บวมแดง ปวดและอาการจะเป็นมากขึ้นจนแผลกลายเป็นสีดำหรือเกิดเป็นตุ่มน้ำ ภาวะเนื้อตายเน่านี้มีอันตรายมากควรเข้ารับการรักษาในโรคพยาบาลโดยทันที

ภาวะที่หูชั้นนอกของผู้ป่วยเบาหวานติดเชื้ออย่างรุนแรง (Malignant Otitis Externa) จะมีอาการปวดจากการอักเสบของหู มีหนองหรือน้ำเหลืองและเชื้อโรคจะกินลึกลงไปถึงชั้นกระดูกอ่อนบริเวณรอบๆช่องหู อาจลุกลามเข้าไปถึงเยื่อหุ้มสมองและกะโหลกศีรษะจนทำให้เสียชีวิตได้

การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะของผู้ป่วยเบาหวาน ทำให้มีอาการปัสสาวะแสบ ปัสสาวะครั้งละน้อยๆแต่บ่อย ปัสสาวะขุ่น ปวดท้องน้อย ในผู้ป่วยเบาหวานบางรายอาจมีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดหลังหรือปวดเอว อาเจียนและลุกลามจนกรวยไตอักเสบเฉียบพลันได้.

12 กุมภาพันธ์ 2553

สาเหตุและปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดแผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน (Diabetic Foot Ulcer)

ผู้ป่วยเบาหวานมักมีอาการแทรกซ้อนหลายอย่าง โอกาสเกิดแผลที่เท้าและถูกตัดขาของผู้ป่วยเบาหวานมีมากกว่าคนปกติหลายเท่าตัว สาเหตุที่ทำให้เกิดแผลที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวานมีหลายสาเหตุที่มักเป็นปัจจัยส่งเสริมซึ่งกันและกัน เริ่มจากสาเหตุเล็กๆหรืออุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้เช่น การใส่รองเท้าคับเกินไปหรือการตัดเล็บเท้าลึกเกินไปทำให้เกิดแผลเล็กๆขึ้น หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคนปกติก็ไม่เกิดปัญหาอะไรแต่สำหรับผู้ป่วยเบาหวานแล้วแผลที่เกิดขึ้นจะหายได้ช้าและมีโอกาสติดเชื้อลุกลามจนเป็นอันตรายได้

ประสาทความรู้สึกเสื่อม ทำให้ร่างกายไม่สามารถรับรู้ถึงความเจ็บปวด ร้อน-เย็นได้ เมื่อเท้าเกิดเป็นบาดแผลผู้ป่วยเบาหวานมักไม่ให้ความสนใจและไม่หยุดใช้เท้าอาจเป็นเพราะไม่รู้สึกเจ็บปวด แผลที่เกิดขึ้นจึงอักเสบและลุกลามมากขึ้น ผู้ป่วยเบาหวานอาจเดินไปเหยียบของมีคมและถูกบาดโดยขาดความระมัดระวัง การที่แผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวานเกิดอาการชาจะเริ่มจากเชื้อราที่เท้า (ฮ่องกงฟุต) โรคเท้าเปื่อยและผู้ป่วยเบาหวานจะไม่มีความรู้สึกเจ็บหรือคันเนื่องจากประสาทรับความรู้สึกเสื่อม กว่าจะรู้ตัวอาการก็ลุกลามอักเสบรุนแรงทั้งอุ้งเท้าเสียแล้ว แต่หากผู้ป่วยรู้จักระวังดูแลสุขภาพและได้รับการรักษาที่ถูกต้องแผลก็จะหายเป็นปกติได้

ประสาทควบคุมกล้ามเนื้อเสื่อม เมื่อประสาทชนิดนี้เสื่อมสมรรถภาพก็จะทำให้กล้ามเนื้อที่เท้าค่อยๆลีบลงหรือกล้ามเนื้อที่เท้าไม่อยู่ในจุดสมดุล เท้าผิดรูป ปลายนิ้วเท้าจิกลงทำให้จุดรับน้ำหนักผิดไปและมีโอกาสที่จะเกิดเป็นตาปลาหรือเกิดเป็นแผลได้ง่ายขึ้น

ประสาทอัตโนมัติที่เกิดการเสื่อมจะเกี่ยวข้องกับการควบคุมการหลั่งของเหงื่อ การขยายตัวและหดตัวของหลอดเลือดมีปัญหาทำให้ผิวหนังแห้ง เหงื่อออกน้อยและผิวแตกได้ง่าย โดยเฉพาะจุดที่มีการพับงอบ่อยๆ เชื้อโรคอาจเข้าไปตามรอยแตกแล้วกลายเป็นแผลลุกลาม การเสื่อมของระบบประสาทอัตโนมัติอาจทำให้เท้าบวมจนคับรองเท้าและกลายเป็นแผลกดทับได้

ความผิดปกติของหลอดเลือด บางครั้งเส้นเลือดก็ตีบแข็งบางครั้งก็อุดตันซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งหลอดเลือดแดงใหญ่และหลอดเลือดฝอยจนทำให้เกิดแผลที่เท้าเนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อซึ่งจะพบมากที่ปลายนิ้วเท้าทั้งห้าหรือส้นเท้า การรักษาก็ทำได้ยากเนื่องจากไม่มีเส้นเลือดไปหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อทำให้ไม่เกิดการสมานแผลที่เน่า การตีบตันของหลอดเลือดในผู้ป่วยเบาหวานยังอาจเกิดขึ้นได้กับหลอดเลือดตามส่วนต่างๆของร่างกายเช่น หลอดเลือดหัวใจ สมองและปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการตีบตันเร็วขึ้นคือ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ ฯลฯ หากเกิดการตีบตันของเส้นเลือดต้องทำการฉีดสีดูว่าจะหาทางแก้ไขทำให้เลือดเดินดีขึ้นได้อย่างไร

การติดเชื้อแทรกซ้อน เท้าของผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นแผลมักมีการติดเชื้อร่วมด้วยเสมอ โดยเฉพาะการแทรกซ้อนของเชื้อแบคทีเรียทำให้แผลอักเสบจนเส้นเลือดฝอยอุดตันทำให้เนื้อเยื่อที่ขาดเลือดส่งกลิ่นเหม็นเน่าและหากมีภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือดและทางเส้นประสาทร่วมด้วยแล้ว โอกาสที่ผู้ป่วยเบาหวานจะได้รับการรักษาให้หายจะยากยิ่งขึ้นซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานต้องถึงกับสูญเสียขา.

21 มกราคม 2553

โรคเบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) สาเหตุและอาการ

เบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) เป็นอาการแทรกซ้อนอย่างหนึ่งของโรคเบาหวานเนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นมากและผลจากน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นจะแสดงผลออกมาบริเวณดวงตาทำให้บริเวณลูกตาหรือจอรับภาพมีเลือดออกมาบดบังการมองเห็น หากปล่อยให้อาการรุนแรงขึ้นจะทำให้อาการลุกลามจนทำให้สูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดได้

เบาหวานขึ้นตามีสาเหตุจากเกิดความผิดปกติที่เส้นประสาทตาเนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงทำให้เส้นเลือดฝอยที่ไปเลี้ยงประสาทตาเกิดจากอุดตันจนผนังเส้นเลือดไม่สามารถรับได้ทำให้เส้นเลือดบริเวณจอรับภาพแตก อาการเบาหวานขึ้นตาเมื่อเริ่มเป็นจะไม่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็นเพราะเส้นเลือดฝอยในตาที่แตกอาจเกิดขึ้นตรงบริเวณอื่นที่ไม่ใช่ส่วนของจอรับภาพจึงไม่กระทบกับการมองเห็นผู้ป่วยที่เริ่มเป็นจึงไม่รู้ตัวกว่าจะรู้ตัวก็ต้องรอจนอาการลุกลามจนถึงศูนย์กลางการรับภาพที่ทำให้เกิดความผิดปกติในการมองเห็น

การอุดตันของเส้นเลือดในดวงตาทำให้เส้นประสาทตาขาดเลือดไปเลี้ยง ร่างกายจะมีการสร้างเส้นเลือดใหม่ขึ้นมาแทนในส่วนของจอรับภาพที่ขาดเลือดไปเลี้ยง แต่เส้นเลือดใหม่เหล่านี้มีความเปราะบางและถูกสร้างขึ้นใหม่แบบไม่มีระเบียบจึงทำให้แตกได้ง่ายทำให้เกิดผลต่อเนื่องคือมีเลือดขังอยู่ในลูกตาซึ่งรบกวนการมองเห็นของผู้ป่วยหรืออาจทำให้ตามืดลงอย่างทันทีก็ได้

หากตรวจพบเบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) โดยเร็วจะทำให้การดูแลรักษาเป็นไปได้ดีขึ้น การตรวจสุขภาพดวงตาปีละครั้งเป็นการป้องกันอาการผิดปกติที่จะเกิดขึ้นกับดวงตาได้ หากมีโรคแทรกซ้อนต่างๆที่เริ่มเกิดขึ้นจะตรวจพบได้แต่เนิ่นๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการดูแลรักษา โรคเบาหวานเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับระบบต่างๆของร่างกายซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายได้ทุกเมื่อ ดังนั้นควรให้ความสนใจกับการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อความปลอดภัยของคุณเอง

18 มกราคม 2553

โรคแทรกซ้อนของหัวใจและหลอดเลือดแดงที่มีสาเหตุจากเบาหวาน (Diabetes)

ภาวะเส้นเลือดตีบแข็ง (Atherosclerosis) จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีเป็นระยะเวลานาน หากภาวะเส้นเลือดตีบแข็งเกิดขึ้นกับอวัยวะส่วนใดก็จะทำให้อวัยวะส่วนนั้นทำงานผิดปกติเช่น หากเส้นเลือดสมองตีบ อุดตัน ก็จะทำให้เกิดอาการเป็นอัมพาต หากเส้นเลือดหัวใจตีบก็จะทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดหรือหัวใจวายและที่พบบ่อยคือเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อขาตีบตันทำให้แขนขาอ่อนแรง ปวดขาเวลาเดินจนอาการลุกลามทำให้ผู้ป่วยเบาหวานต้องถึงกับสูญเสียขาไปเลย

สาเหตุที่ทำให้เกิดเส้นเลือดตีบตันในผู้ป่วยเบาหวานมีหลายสาเหตุ อาจเกิดจากผู้ป่วยเบาหวานมีไขมันในเลือดสูง(ไตรกลีเซอไรด์ ,คลอเรสเตอรอล) ไขมันเหล่านี้จะเกาะตามผนังหลอดเลือดและจับตัวเป็นคราบแข็งบริเวณผนังหลอดเลือดหรืออาจเกิดจากเกล็ดเลือดของผู้ป่วยเบาหวานจับตัวกันได้ง่ายทำให้เกิดเป็นคราบแข็งที่ผนังหลอดเลือด ผู้ป่วยเบาหวานจะมีสารต้านการแข็งตัวของเลือดอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าคนปกติทำให้เลือดแข็งตัวได้ง่ายกว่า ที่กล่าวมาแล้วล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดตีบแข็งได้ง่ายในผู้ป่วยเบาหวาน

ในผู้ป่วยเบาหวานจะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้มาก อาจจะเป็นภาวะหัวใจล้มเหลวหรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่เป็นโรคหัวใจชนิดที่ไม่มีอาการเจ็บหน้าอกเตือนให้ทราบล่วงหน้า ดังนั้นการที่ไม่มีอาการเตือน(เจ็บหน้าอก)ขณะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจะเป็นอันตรายอย่างมากเพราะผู้ป่วยจะไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที สาเหตุของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่ไม่มีอาการเตือนนั้นเกิดจากการเสื่อมของเส้นประสาทอัตโนมัติที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจที่มีสาเหตุมาจากผลแทรกซ้อนจากเบาหวานนั่นเอง

โดยตัวของโรคเบาหวานเองแล้วสามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในผู้ป่วยเบาหวานได้โดยที่เส้นเลือดหัวใจยังไม่ตีบตัน กลไกการเกิดโรคหัวใจที่เป็นโรคแทรกซ้อนจากเบาหวานอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของผนังหลอดเลือดฝอย การโป่งพองของหลอดเลือดในกล้ามเนื้อหัวใจ การเกิดพังผืดในกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลายจนเกิดความผิดปกติในการบีบและคลายตัวของหัวใจ อันเป็นสาหตุของ “หัวใจล้มเหลว” ในผู้ป่วยเบาหวาน

การรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาจทำได้โดยการผ่าตัดต่อเส้นเลือดหัวใจหรือการขยายหลอดเลือดโดยใช้วิธีทำบอลลูนเพื่อขยายเส้นเลือดที่หัวใจ แต่ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานจะพบว่ามีอัตราการตีบซ้ำของเส้นเลือดหัวใจและอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูงกว่าคนกลุ่มปกติ

17 มกราคม 2553

โรคแทรกซ้อนทางระบบประสาทที่เกิดจากเบาหวาน (Diabetic neuropathy)

โรคเบาหวาน (Diabetes) เป็นโรคที่เป็นต้นเหตุของโรคแทรกซ้อนต่างๆได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ อันตรายจากการเกิดโรคแทรกซ้อนมักจะรุนแรงมาก ดังนั้นหากผู้ป่วยเบาหวานควบคุมอาการของโรคไม่ดีพอจะทำให้มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นมาได้ โรคแทรกซ้อนที่ว่าอาจเกิดขึ้นกับส่วนใดหรือระบบใดของร่างกายก็ได้ ระบบประสาทก็เป็นระบบที่เกิดการแทรกซ้อนของโรคจากอาการเบาหวานได้บ่อย

อาการแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทจะมีอาการสูญเสียการรับความรู้สึกอาจเริ่มจากชาตามปลายนิ้วและลุกลามต่อไปยังส่วนอื่นๆของร่างกาย ไม่ว่าร่างกายส่วนที่สูญเสียการรับรู้ความรู้สึกจะไปสัมผัสกับสิ่งที่ร้อนหรือเย็นหรือแม้แต่ได้รับบาดแผลผู้ป่วยก็จะไม่รู้สึกตัวเลย เท้าเป็นอวัยวะของผู้ป่วยเบาหวานที่มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บได้ง่ายที่สุดเนื่องจากผู้ป่วยต้องใช้เท้าเดินไปไหนมาไหนหากประสาทการรับรู้ที่เท้าสูญเสียไปเมื่อผู้ป่วยเบาหวานเดินไปเหยียบตะปูหรือของมีคมก็จะไม่รู้สึกตัว ยิ่งไปกว่านั้นแผลของผู้ป่วยเบาหวานก็จะหายช้ากว่าคนปกติอีกด้วย หากดูแลแผลไม่ดีอาจทำให้เกิดการลุกลามจนอักเสบและติดเชื้อได้

หากผู้ป่วยเบาหวานเกิดภาวะที่เส้นเลือดฝอยที่เท้ามีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอแล้วผู้ป่วยอาจมีอาการปวดเส้นประสาทหรือปวดแสบปวดร้อนได้ บางทีผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนมีมดไต่เท้าอยู่ตลอดเวลาสร้างความรำคาญจนมีผลกระทบในเวลาพักผ่อนของผู้ป่วยทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอร่างกายอ่อนเพลียได้ง่าย

การแทรกซ้อนที่เกิดกับระบบประสาท (Diabetic neuropathy) อาจเกี่ยวข้องกับเส้นประสาทของกล้ามเนื้อตาซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติของการทำงานของกล้ามเนื้อตาคืออาจมองเห็นภาพซ้อน ไม่สามารถกลอกตาไปในบางทิศทางได้ บางครั้งอาจมีอาการปวดหัวร่วมด้วยแต่ความผิดปกติของระบบประสาทในลักษณะนี้เมื่อเวลาผ่านไปอาการมักจะค่อยๆดีขึ้นได้เองซึ่งเป็นความผิดปกติของเส้นประสาทเฉพาะเส้นเท่านั้น

การแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับระบบประสาทอัตโนมัติ หากเป็นระบบประสาทที่ควบคุมทางเดินอาหารจะทำให้กระเพาะทำงานได้น้อย กินอาหารน้อย อาเจียน แน่นท้องตลอดจนการดูดซึมอาหารก็ทำงานได้ไม่ดี แต่หากระบบประสาทอัตโนมัตินั้นควบคุมเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์หรือระบบปัสสาวะจะทำให้เกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ กระเพาะปัสสาวะไม่ทำงานมีปัสสาวะค้างอยู่ภายในทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะและอาจกระทบไปถึงปัญหาอวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว (Erectile Dysfunction) ที่เป็นปัญหาใหญ่ของเพศชายด้วย

โรคเบาหวาน (Diabetes) โดยปกติแล้วหากควบคุมอาการอยู่ก็จะไม่เกิดปัญหาอะไรกับตัวผู้ป่วย แต่สิ่งที่น่ากลัวคือเบาหวานเป็นจุดเริ่มของโรคแทรกซ้อนที่อันตรายมาก ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานควรให้ความสำคัญในการควบคุมอาการของโรคและระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีเพราะหากเกิดการผิดพลาดตรงจุดนี้จะทำให้โรคแทรกซ้อนจากเบาหวานโรคใดโรคหนึ่งหรือหลายโรคเกิดตามมาได้

14 มกราคม 2553

เบาหวานลงไต โรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับไตจากเบาหวาน (Diabetes & Kidney Disease)

อาการเริ่มแรกของโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเบาหวานทำให้เกิดเบาหวานลงไตคือการตรวจหาโปรตีนแอลบูมิน (Albumin) ในปัสสาวะ หากตรวจพบสารชนิดนี้ในปัสสาวะนั่นคือได้เกิดโรคแทรกซ้อนจากเบาหวานแล้ว โรคเบาหวานเป็นโรคที่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้หลายโรคจึงเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นให้เกิดโรคที่ร้ายแรงต่างๆ ผู้ป่วยเบาหวานต้องควบคุมอาการของโรคให้ดีอย่าให้เกิดอาการแทรกซ้อนจากเบาหวานได้

ความรุนแรงของโรคเบาหวานลงไตจะแบ่งออกได้เป็น 2 ระยะคือ ภาวะไมโครแอลบูมิน (Microalbumin) และ ภาวะแมคโครแอลบูมิน (Macroalbumin) ความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับระดับโปรตีนแอลบูมินที่ตรวจพบในปัสสาวะ หากปริมาณโปรตีนแอลบูมินที่อยู่ในปัสสาวะมีปริมาณ 30 – 300 มิลลิกรัมต่อวันคือภาวะไมโครแอลบูมิน ส่วนภาวะแมคโครแอลบูมินจะมีปริมาณโปรตีนแอลบูมินมากกว่า 300 มิลลิกรัมต่อวันขึ้นไป แต่หากผู้ป่วยเบาหวานควบคุมอาการของโรคได้อย่างดีเมื่อเริ่มภาวะไมโครแอลบูมินก็จะมีโอกาสกลับคืนสู่ภาวะปกติได้

สิ่งที่แย่สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่เริ่มเข้าสู่ภาวะไมโครแอลบูมินคืออาการของโรคเบาหวานลงไตในระยะนี้จะไม่มีอาการอะไรที่ให้สังเกตได้อย่างเด่นชัดทำให้ผู้ป่วยไม่ตัวกว่าจะรู้ตัวก็เข้าสู่ภาวะแมคโครแอลบูมินเสียแล้ว ปริมาณของโปรตีนแอลบูมินที่อยู่ในปัสสาวะจะรั่วออกมาจากไตหากรั่วมากขึ้นจะทำให้อาการเบาหวานลงไตชัดเจนมากขึ้น

สิ่งสำคัญคืออย่าประมาทผู้ป่วยเบาหวานต้องดูแลสุขภาพโดยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมจำกัดอาหารประเภทโปรตีน ควบคุมอาหารและความดันโลหิต (Blood Pressure) อย่างเคร่งครัด ไม่ใช่ว่าพออาการโรคเบาหวานไม่ได้กำเริบก็ไม่เห็นประโยชน์ที่จะควบคุมดูแลสุขภาพ การจะตรวจพบว่าผู้ป่วยเริ่มเป็นเบาหวานลงไตในภาวะไมโครแอลบูมินนั้นต้องอาศัยการตรวจปัสสาวะโดยวิธีพิเศษซึ่งผู้ป่วยส่วนมากไม่ค่อยทำกันจึงทำให้อาการเบาหวานลงไตค่อยๆสะสมมากขึ้นกว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวก็เข้าสู่ภาวะแมคโครแอลบูมินแล้ว

เบาหวานลงไตมักจะแสดงอาการที่เท้าคือ เท้าบวมอาจบวมบ้างยุบบ้างสลับกันไปแล้วเท้าก็จะบวมถาวรจนลุกลามกลายเป็นบวมไปทั้งตัว สิ่งที่เกิดขึ้นไปพร้อมกับเบาหวานลงไตคือการมีความดันโลหิตสูง (Hypertension) จนสุดท้ายจะเข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรังซึ่งจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ซึมจนไม่มีสติและอาจชักได้ นอกจากนี้อาจมีอาการน้ำท่วมปวดและภาวะหัวใจล้มเหลวอีกด้วย

ภาวะไตวายเรื้อรัง Chronic renal failure (CRF) จะรักษาโดยการล้างไต อาจจะล้างไตโดยวิธีล้างไตโดยการฟอกไตผ่านเครื่องไตเทียม หรือการล้างไตผ่านทางช่องท้อง หากเบาหวานลงไตจนกลายเป็นภาวะไตวายเรื้อรังแล้วในขั้นสุดท้ายของการรักษาคือการผ่าตัดเปลี่ยนไต ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องมีสภาพร่างกายและมีไตที่เหมาะสมกับเนื้อเยื่อของผู้ป่วยจึงจะสามารถรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนไตได้.

13 มกราคม 2553

โรคเบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) และการรักษาโรคเบาหวาน

เบาหวาน อาการที่น่าหนักใจไม่น้อยหากผู้ป่วยมีอาการโรคเบาหวาน (Diabetes symptoms)และดูแลตนเองไม่ดีอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นมาอาจเป็นเบาหวานขึ้นตาที่หากผู้ป่วยควบคุมอาการไม่ดีอาจทำให้อาการเบาหวานกำเริบขึ้นไปสู่จอประสาทตาความรุนแรงนั้นอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดได้ โรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานจะมีมากขึ้นตามระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการของโรคเบาหวาน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานเช่น ระดับไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ความอ้วน การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ ฯลฯ

โรคเบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) เป็นโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากอาการเบาหวานโดยอาการของโรคจะทำให้การมองเห็นลดลงหรือมองไม่เห็นแบบกะทันหันได้ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดการโป่งพองของเส้นเลือดที่บริเวณใดของตา หากอาการเบาหวานขึ้นตาที่บริเวณจอรับภาพของดวงตา เส้นเลือดของจอรับภาพแตกเกิดขึ้นตรงตำแหน่งจุดศูนย์กลางการมองเห็นของจอรับภาพจะส่งผลให้ตาบอดกะทันหันได้ แต่หากโชคดีเส้นเลือดที่แตกเกิดที่ตำแหน่งอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการมองเห็นก็จะไม่มีอาการอะไร

การป้องกันและการรักษาโรคเบาหวานขึ้นตา ทำได้โดยการให้จักษุแพทย์ (Ophthalmologist) ทำการตรวจการเปลี่ยนแปลงของเส้นเลือดในดวงตาโดยเฉพาะบริเวณจุดศูนย์กลางของการมองเห็น หากมีเส้นเลือดแตกก็จะทำการรักษาโรคเบาหวานขึ้นตาได้โดยใช้การยิงเลเซอร์ที่ช่วยได้เพียงแค่เป็นการประคับประคองอาการโรคเบาหวานขึ้นตาไม่ให้รุนแรงมากขึ้นจนอาจทำให้ตาบอดเท่านั้น เช่นเดียวกับอาการเบาหวานที่ทำให้มีเลือดออกในวุ้นของดวงตา การรักษาโรคเบาหวานในกรณีนี้จึงทำได้โดยการผ่าตัดซ่อมจอรับภาพและเปลี่ยนวุ้นลูกตาแต่การรักษาในลักษณะนี้เป็นเพียงการประคับประคองอาการโรคเบาหวานไม่ให้เป็นหนักกว่าที่เป็นอยู่เท่านั้น

โรคแทรกซ้อนจากอาการโรคเบาหวานอีกโรคหนึ่งที่เกี่ยวกับตาคือ ต้อกระจก สาเหตุเกิดจากผู้ป่วยเบาหวานไม่สามารถควบคุมอาการของโรคเบาหวานได้ดีพอจึงทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนคือโรคต้อกระจก (Cataract) ซึ่งมีอาการขุ่นมัวที่เลนส์ตาและจะส่งผลกระทบต่อการมองเห็นของผู้ป่วยเบาหวาน การรักษาโรคต้อกระจกที่เกิดจากเบาหวานนิยมผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาก็จะช่วยให้กลับมามองเห็นได้เหมือนเดิม

การรักษาโรคเบาหวานเป็นการรักษาที่ปลายเหตุเท่านั้น เราควรเน้นที่การป้องกันมากกว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานหากมีการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งในเรื่องการปรับพฤติกรรม การดูแลสุขภาพและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างเคร่งครัดจะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคแทรกซ้อนได้มากซึ่งเป็นการป้องกันที่ได้ผลดีทำให้ผู้ป่วยสามารถอยู่ต่อไปกับโรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus) ได้อย่างปกติไม่ต้องเครียดกับโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากเบาหวาน