แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ อาการโรคเบาหวาน แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ อาการโรคเบาหวาน แสดงบทความทั้งหมด

24 กันยายน 2553

อาการผิดปกติของร่างกายที่พบในผู้ป่วยเบาหวาน(Diabetes Symptoms) และการแก้ไข

โรคเบาหวาน(Diabetes Mellitus) ทำให้ระบบการทำงานในส่วนต่างๆของร่างกายได้รับผลกระทบมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป อาการผิดปกติของร่างกายที่เกิดจากโรคเบาหวานมีหลายอย่างเช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนท่า ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในเพศชาย ภาวะมีเหงื่อออกมากผิดปกติ ภาวะการติดเชื้อ ภาวะปัสสาวะลำบาก ภาวะผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ฯลฯ

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ(Hypoglycemia) มีอาการดังต่อไปนี้เช่น เหงื่อออกมาก ตัวเย็น มือสั่น รู้สึกอ่อนเพลีย มึนงง หงุดหงิดฉุนเฉียวขึ้นมาทันทีทันใด หัวใจเต้นแรงและเร็ว ปวดหรือมึนศีรษะ เห็นภาพซ้อนตาพร่ามัว หิวมาก หน้าซีดพูดไม่ชัด ชักและหมดสติ อาการภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมักเกิดจาก 3 สาเหตุคือ การฉีดอินซูลิน (Insulin) หรือกินยาลดระดับน้ำตาลมากไป การกินอาหารผิดเวลาหรือเว้นช่วงระหว่างมื้ออาหารนานเกินไปและสาเหตุสุดท้ายคือการทำงานหรือออกกำลังกายหนักเกินไป

การรักษาอาการภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ(Hypoglycemia) ทำได้ง่ายหากอาการไม่เป็นมากจนหมดสติ เพียงแต่ต้องรู้จักสังเกตอาการของโรคให้ดี หากรู้สึกว่ามีอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอย่ารอให้อาการดังกล่าวเป็นมากขึ้นแล้วคิดว่าสักครู่ก็หายเองได้ ให้รีบแก้ไขอาการเหล่านั้นด้วยวิธีง่ายๆคือ เมื่อรู้สึกถึงอาการเตือนของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำและรู้แน่ชัดว่าเกิดจากการกินอาหารผิดเวลาให้รีบแก้ไขโดยการกินอาหารทันทีหรืออย่างน้อยต้องมีอาหารว่างไว้รองท้องก่อน อาการจะค่อยๆดีขึ้นจนเป็นปกติ

หากเกิดอาการภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำค่อนข้างมากควรแก้ไขโดยกินอาหารที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้โดยเร็วเพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดโดยเร็วเช่น ขนมหวาน น้ำหวาน ลูกกวาด ฯลฯ แต่หากสาเหตุเกิดจากการทำงานหรือออกกำลังกายหนักเกินไปก็ให้แก้ไขด้วยการหยุดทำงานหรือหยุดการออกกำลังกายนั้นแล้วให้ผู้ป่วยนั่งหรือนอนพักจนกว่าอาการจะดีขึ้น ระหว่างรอสังเกตอาการประมาณ 10-20 นาทีหากอาการยังไม่ดีขึ้นให้กินอาหารเพิ่มเติม ถ้าผู้ป่วยเกิดหมดสติไป อย่าพยายามป้อนอาหารให้ผู้ป่วยขณะหมดสติโดยเด็ดขาดให้รีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

การป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ(Hypoglycemia) ของผู้ป่วยเบาหวานให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์โดยเคร่งครัดในทุกๆเรื่องไม่ว่าจะเป็นการฉีดอินซูลิน(Insulin) การกินยาลดระดับน้ำตาลหรือการควบคุมอาหารและเวลาการกินอาหาร หมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ หากต้องกินยาอื่นๆที่นอกเหนือจากที่แพทย์สั่งให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเพราะยาเหล่านั้นอาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้และบอกให้ญาติหรือคนใกล้ตัวรู้ถึงอาการของโรคตลอดจนวิธีแก้ไขเพื่อจะได้ช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงที

09 กุมภาพันธ์ 2553

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) อาการผิดปกติในผู้ป่วยเบาหวาน

ผู้ป่วยเบาหวานอาจมีอาการผิดปกติที่พบได้บ่อยคือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ(Hypoglycemia) ซึ่งเป็นภาวะที่ผู้ป่วยเบาหวานอาจละเลยไม่ได้ดูแลตนเองหรือปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจะมีอาการได้หลายลักษณะเริ่มตั้งแต่อาการที่มีความรุนแรงน้อยจนถึงขั้นหมดสติเช่น มีเหงื่อออกมาก ตัวเย็น ปวด-มึนศีรษะ ชาตามปลายนิ้วมือนิ้วเท้าหรือรอบปาก หงุดหงิดขึ้นมาอย่างทันทีทันใด ตาพร่ามองเห็นเป็นภาพซ้อน หัวใจเต้นเร็วและแรง วิงเวียน หน้าซีด ชัก หมดสติ.

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกิดจากสาเหตุสำคัญคือ ผู้ป่วยเบาหวานดูแลตนเองไม่ดีพอ ส่วนมากจะเกิดจาก การฉีดอินซูลินหรือกินยาลดระดับน้ำตาลมากไปหรือกินอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายคือ กินน้อยไป กินผิดเวลาหรือทิ้งช่วงเวลาระหว่างมื้อนานเกินไป การที่ผู้ป่วยเบาหวานทำงานหรือออกกำลังกายมากเกินไปก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้เช่นกัน

การรักษาดูแลอาการที่เกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หากอาการที่เกิดกับผู้ป่วยเบาหวานไม่รุนแรงจนถึงขั้นหมดสติก็สามารถแก้ไขได้โดยการให้ผู้ป่วยกินน้ำตาลเข้าไปก็จะทำให้อาการดีขึ้นได้ ดังนั้นหากมีอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำตามที่กล่าวมาแล้ว อย่ามัวแต่รอดูอาการโดยคิดว่าเดี๋ยวก็หายเองได้ ให้รีบหาทางแก้ไขโดยทำตามคำแนะนำต่อไปนี้

ให้พยายามหาสาเหตุว่าการที่ผู้ป่วยเบาหวานเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำนั้นมีสาเหตุจากอะไรเช่น หากรู้ว่าเป็นเพราะผิดเวลาอาหารก็ให้รีบกินอาหารทันทีหรืออย่างน้อยที่สุดต้องกินอาหารว่างรองท้องไปก่อนอาการก็จะดีขึ้น หากอาการค่อนข้างรุนแรงแต่ยังไม่ถึงขั้นหมดสติ ให้ผู้ป่วยเบาหวานกินอะไรก็ได้ที่สามารถถูกดูดซึมและเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้โดยเร็วเช่น นมรสหวาน ลูกกวาดหรือน้ำหวาน ฯลฯ แล้วให้ผู้ป่วยพักผ่อนรอดูอาการสักครู่หนึ่ง หากเวลาผ่านไปสัก 10-15 นาทีแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นให้แก้ไขโดยการกินอาหารเพิ่มอีก

สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ชอบออกกำลังกายควรหาทางป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในช่วงที่กำลังออกกำลังกายและหลังออกกำลังกายโดยการกินอาหารว่างจำพวกแซนด์วิช แครกเกอร์ ฯลฯ ก่อนการออกกำลังกายก็จะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเบาหวานเกิดอาการภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้.

21 มกราคม 2553

โรคเบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) สาเหตุและอาการ

เบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) เป็นอาการแทรกซ้อนอย่างหนึ่งของโรคเบาหวานเนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นมากและผลจากน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นจะแสดงผลออกมาบริเวณดวงตาทำให้บริเวณลูกตาหรือจอรับภาพมีเลือดออกมาบดบังการมองเห็น หากปล่อยให้อาการรุนแรงขึ้นจะทำให้อาการลุกลามจนทำให้สูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดได้

เบาหวานขึ้นตามีสาเหตุจากเกิดความผิดปกติที่เส้นประสาทตาเนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงทำให้เส้นเลือดฝอยที่ไปเลี้ยงประสาทตาเกิดจากอุดตันจนผนังเส้นเลือดไม่สามารถรับได้ทำให้เส้นเลือดบริเวณจอรับภาพแตก อาการเบาหวานขึ้นตาเมื่อเริ่มเป็นจะไม่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็นเพราะเส้นเลือดฝอยในตาที่แตกอาจเกิดขึ้นตรงบริเวณอื่นที่ไม่ใช่ส่วนของจอรับภาพจึงไม่กระทบกับการมองเห็นผู้ป่วยที่เริ่มเป็นจึงไม่รู้ตัวกว่าจะรู้ตัวก็ต้องรอจนอาการลุกลามจนถึงศูนย์กลางการรับภาพที่ทำให้เกิดความผิดปกติในการมองเห็น

การอุดตันของเส้นเลือดในดวงตาทำให้เส้นประสาทตาขาดเลือดไปเลี้ยง ร่างกายจะมีการสร้างเส้นเลือดใหม่ขึ้นมาแทนในส่วนของจอรับภาพที่ขาดเลือดไปเลี้ยง แต่เส้นเลือดใหม่เหล่านี้มีความเปราะบางและถูกสร้างขึ้นใหม่แบบไม่มีระเบียบจึงทำให้แตกได้ง่ายทำให้เกิดผลต่อเนื่องคือมีเลือดขังอยู่ในลูกตาซึ่งรบกวนการมองเห็นของผู้ป่วยหรืออาจทำให้ตามืดลงอย่างทันทีก็ได้

หากตรวจพบเบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) โดยเร็วจะทำให้การดูแลรักษาเป็นไปได้ดีขึ้น การตรวจสุขภาพดวงตาปีละครั้งเป็นการป้องกันอาการผิดปกติที่จะเกิดขึ้นกับดวงตาได้ หากมีโรคแทรกซ้อนต่างๆที่เริ่มเกิดขึ้นจะตรวจพบได้แต่เนิ่นๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการดูแลรักษา โรคเบาหวานเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับระบบต่างๆของร่างกายซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายได้ทุกเมื่อ ดังนั้นควรให้ความสนใจกับการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อความปลอดภัยของคุณเอง

11 มกราคม 2553

ผู้ที่เข้าข่ายและมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus)

อาการเบาหวาน (Diabetes Symptom) ที่เป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้วคือเวลาฉี่แล้วมดจะขึ้นปัสสาวะ นอกจากนี้อาการอื่นๆเช่น คอแห้ง กินเก่ง ดื่มน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักตัวลดลงทั้งๆที่กินเก่ง นี่คืออาการของโรคเบาหวานที่สามารถสังเกตได้ไม่ยาก แต่บางทีผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะมีอาการที่กล่าวมาเพียงบางอาการเท่านั้นและอาการก็ไม่ชัดเจนทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นความผิดปกติของร่างกายที่เกิดจากการทำงานหนักหรือเครียด

การตรวจสุขภาพประจำปี (Annual Health Check) จะช่วยให้คุณรู้ตัวแต่เนิ่นๆว่าเป็นโรคร้ายอะไรบ้างหรือไม่ หากคุณมีอาการที่กล่าวมาข้างต้นแม้เพียงบางอาการก็ควรไปตรวจร่างกายและเน้นที่การตรวจเลือดเพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อความแน่ใจว่าเป็นเบาหวานหรือไม่ โรคที่ร้ายแรงไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคไต โรคเบาหวาน หากผู้ป่วยรู้ตัวแต่เนิ่นๆจะทำให้การดูแลรักษาทำได้ง่ายขึ้นกว่าการที่ตรวจพบเมื่ออาการเบาหวานเห็นได้อย่างชัดเจนแล้ว

คนที่อยู่ในข่ายที่มีโอกาสเป็นเบาหวาน (Diabetes) คือ อายุเกิน 45 ปีและมีรูปร่างที่เรียกว่า “อ้วน” หากเคยมีญาติสายตรงเคยเป็นเบาหวานมาก่อนด้วยแล้วจะมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นเบาหวาน หากเคยตรวจร่างกายแล้วปรากฏว่าระดับน้ำตาลในเลือดค่อนข้างสูงแม้จะยังไม่ถึงขั้นที่เรียกว่าเบาหวานก็อาจเป็นน้องเบาหวานก็ได้ ส่วนข้อสังเกตอื่นๆที่ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานเช่น เคยมีประวัติโรคหลอดเลือดเสื่อม ประวัติการติดเชื้อในระบบขับถ่าย ผิวหนังหรือระบบสืบพันธุ์

หากคุณหรือคนรอบตัวมีประวัติหรือคุณสมบัติตามที่กล่าวมาแล้ว ไม่จำเป็นว่าจะต้องครบทุกอาการก็เข้าข่ายที่จะเป็นโรคเบาหวานได้แล้ว หากคุณมีอายุเกิน 45 ปีคุณควรหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพให้มากขึ้นและหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี (Annual Health Check) หากสงสัยว่าตัวเองอาจเป็นเบาหวานควรแจ้งให้ทางโรงพยาบาลเน้นการตรวจเบาหวานโดยเฉพาะ โรคเบาหวานโดยตัวของโรคเองแล้วไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงเพียงแต่โรคเบาหวานจะเป็นจุดเริ่มทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆที่อันตรายตามมาได้ หากตรวจพบเบาหวานแต่เนิ่นๆจะมีข้อดีคือช่วยให้การดูแลควบคุมอาการทำได้ง่ายขึ้น สิ่งที่ต้องตระหนักอย่างหนึ่งเกี่ยวกับโรคเบาหวานคือโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้สิ่งที่พึงทำได้คือต้องควบคุมอาการของโรคเบาหวานและอยู่กับเบาหวานอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีก็เพียงพอแล้ว

08 มกราคม 2553

อาการโรคเบาหวานและสัญญาณของโรคเบาหวาน (Signs and Symptoms of Diabetes)

อาการโรคเบาหวาน (Diabetes Symptom) เป็นสิ่งที่สังเกตได้ไม่ยาก อาการเบาหวานที่เป็นสัญญาณเตือนให้ทราบโดยทั่วไปคือเมื่อผู้ป่วยปัสสาวะทิ้งไว้จะมีมดขึ้นปัสสาวะ อาการคอแห้ง กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อยมาก อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณของโรคเบาหวาน แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายอาจเป็นเบาหวานแฝงคือโรคเบาหวานที่กำลังก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆโดยที่ไม่มีอาการเบาหวานให้สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน กว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวว่าเป็นโรคเบาหวานก็ต้องรอจนมีโรคแทรกซ้อนขึ้นมาก่อนจึงรู้ว่าเป็นโรคเบาหวาน

อาการโรคเบาหวานที่สังเกตได้ค่อนข้างชัดเจนจะเป็นอาการที่ร่างกายต้องทำในยามค่ำคืนบ่อยขึ้น หากสังเกตให้ดีจะพบว่าผู้ป่วยเบาหวานมีอาการปวดปัสสาวะบ่อยและถี่มากกว่าปกติทำให้ต้องลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำในเวลากลางคืนบ่อยๆ ทำให้รบกวนการนอนเพราะต้องตื่นมาเข้าห้องน้ำหลายๆครั้งในแต่ละคืน อาการเบาหวาน (Diabetes Symptom) ที่เป็นผลต่อเนื่องจากการปัสสาวะบ่อยนั่นคือกระหายน้ำ คอแห้ง เนื่องจากร่างกายสูญเสียน้ำไปกับการปัสสาวะบ่อยทำให้ร่างกายต้องการน้ำกลับเข้าไปชดเชยน้ำส่วนที่เสียไปจากการปัสสาวะ

อาการโรคเบาหวานที่สังเกตได้อีกอย่างคือร่างกายจะอ่อนเพลีย กินเก่งแต่ยังหิวบ่อยเนื่องจากร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานได้ แม้จะกินเก่งแต่น้ำหนักตัวไม่ได้เพิ่มขึ้นมีแต่น้ำหนักตัวจะลดลงและร่างกายผอมลงเพราะฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ที่เป็นตัวดึงน้ำตาลจากเลือดไปใช้เป็นพลังงานให้เซลล์ต่างๆทำงานได้ไม่เต็มที่หรือร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลินจึงทำให้มีน้ำตาลตกค้างอยู่ในเลือดมากกว่าปกติ ร่างกายจึงแก้ปัญหาด้วยการไปดึงโปรตีนและไขมันที่สะสมอยู่ตามเนื้อเยื่อต่างๆมาใช้แทนจึงทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียและน้ำหนักลดลงของผู้ป่วยเบาหวานทั้งที่กินอาหารเก่งและกินบ่อย

ผู้ป่วยที่มีอาการโรคเบาหวานอาจไม่รู้สึกตัวแต่คนรอบข้างหรือคนที่อยู่ใกล้ชิดอาจสังเกตเห็นได้จากสัญญาณเตือนตามอาการที่กล่าวมาข้างต้น อย่างไรก็ตามจะเป็นอันตรายเพิ่มขึ้นหากอาการเบาหวานไม่ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแต่กลับแฝงอยู่ในตัวผู้ป่วยเบาหวาน วิธีป้องกันที่ทำได้ไม่ยากคืออย่าประมาทหากคุณอายุเกิน 40 ปีแล้วแม้ว่าร่างกายจะไม่มีอาการโรคเบาหวานให้เห็นแต่ยังไงคุณต้องตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละครั้ง หากตรวจพบว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดสูงซึ่งเป็นลักษณะอาการโรคเบาหวานให้รีบพบแพทย์เพื่อหาทางดูแลรักษาเพราะโรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus) ยิ่งตรวจพบแต่เนิ่นๆจะสามารถควบคุมอาการของโรคเบาหวานได้ดีกว่าซึ่งจะเป็นผลดีกับตัวผู้ป่วยเอง

07 มกราคม 2553

อาการโรคเบาหวาน (Diabetes Symptom) ต้องถ่ายปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน

อาการโรคเบาหวาน (Diabetes Symptom) มีหลายอาการแต่อาการที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือการถ่ายปัสสาวะบ่อยซึ่งเป็นทั้งตอนกลางวันและกลางคืน การถ่ายปัสสาวะบ่อยเกิดจากกลไกของไตที่พยายามจะกรองแยกเอาสารอาหารที่มีประโยชน์ (น้ำตาล) กลับคืนสู่ร่างกายและคัดแยกเอาของเสียออกจากเลือดแล้วขับออกจากร่างกายไปโดยส่งไปพร้อมกับปัสสาวะจึงเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเบาหวานต้องปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ การถ่ายปัสสาวะบ่อยตอนกลางวันก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรนอกจากผู้ป่วยจะรู้สึกรำคาญกับอาการโรคเบาหวานที่เป็นอยู่แต่การปัสสาวะบ่อยตอน

กลางคืนนอกจากจะสร้างความหงุดหงิดรำคาญให้กับผู้ป่วยแล้วยังทำให้ผู้ป่วยพักผ่อนไม่เพียงพอซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้

อาการโรคเบาหวานของผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) เมื่อเลือดไหลผ่านไต ไตก็จะทำหน้าที่กรองหรือคัดแยกระหว่างของดีและของเสียที่อยู่ในเลือด ไตจะจัดการส่งของดีเช่นน้ำตาลและสารอาหารต่างๆกลับคืนไปกับกระแสเลือดและส่งของเสียอื่นๆ ที่ปะปนอยู่ในเลือด ทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะจึงเป็นเหตุให้ผู้ป่วยเบาหวานต้องปัสสาวะบ่อยๆ

ความสามารถของไตในการคัดแยกเพื่อนำสารอาหารดีกลับคืนและส่งของเสียทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะก็มีข้อจำกัดเหมือนกัน หากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (คนปกติ) ความสามารถขอไตจะสามารถดึงน้ำตาลกลับคืนสู่ระบบได้ทั้งหมด ดังนั้นการตรวจปัสสาวะของคนปกติที่ไม่ได้เป็นเบาหวานจะตรวจไม่พบน้ำตาลในปัสสาวะ

แต่ในกรณีของผู้ป่วยที่มีอาการโรคเบาหวานนั่นคือระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ปกติ ทำให้เกินความสามารถของไตที่จะนำน้ำตาลกลับสู่ระบบได้ คนที่เป็นโรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus) จึงมีน้ำตาลหลุดออกมาปะปนอยู่ในปัสสาวะและเนื่องจากน้ำตาลส่วนเกินที่ไตไม่สามารถดูดคืนสู่ระบบได้จะถูกส่งผ่านไปกับน้ำปัสสาวะคือต้องมีน้ำเป็นตัวส่งผ่านน้ำตาลออกจากร่างกายจึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานต้องถ่ายปัสสาวะบ่อยกว่าคนปกติ

การตรวจหาอาการโรคเบาหวานด้วยการตรวจปัสสาวะนั้น (Urinary Analysis) ถ้าผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ที่ประมาณ 140-180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร การตรวจปัสสาวะว่ามีน้ำตาลปนอยู่มากน้อยหรือไม่นั้นอาจได้ผลที่ไม่ชัดเจนเนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดที่ระดับนี้ยังไม่เกินความสามารถของไตที่คอยสกัดกั้นและดึงน้ำตาลกลับคืนสู่ระบบได้ การตรวจหาเบาหวานจากการตรวจระดับน้ำตาลในปัสสาวะจึงอาจให้ผลที่ไม่แน่นอนหากต้องการผลการตรวจว่าเป็นเบาหวานหรือไม่ที่ได้ผลแน่นอนควรใช้วิธีตรวจหาน้ำตาลในเลือด (FBS : Fasting Blood Sugar) จะให้ผลที่แน่นอนกว่า