แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ออกกำลังกายกับเบาหวาน แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ออกกำลังกายกับเบาหวาน แสดงบทความทั้งหมด

16 กุมภาพันธ์ 2553

ประเภทและระยะเวลาในการออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวาน(Diabetes and Exercise)

ประเภทของการออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวานไม่ได้กำหนดตายตัวว่าผู้ป่วยเบาหวานจะต้องออกกำลังกายแบบใด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชอบและความถนัดเป็นส่วนตัวของผู้ป่วยเบาหวาน แต่หลักสำคัญของการออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวานคือ ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายประเภทที่ต้องออกแรงต้านมากๆเช่น การยกน้ำหนัก เพราะการออกกำลังกายที่ต้องออกแรงต้านมากๆอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือดและหัวใจได้

ประเภทของการออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวานที่ควรจะเป็นคือ การออกกำลังกายที่ทำให้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกายหลายๆส่วนได้เคลื่อนไหวและออกแรงพร้อมๆกันและต้องเป็นการออกกำลังกายที่ไม่ต้องใช้แรงต้านมาก ตัวอย่างการออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานคือ การเดินเร็วๆ การวิ่งเหยาะๆ และการว่ายน้ำ ฯลฯ ระยะเวลาในการออกกำลังกายควรเป็นครั้งละ 20-45 นาที ให้ผู้ป่วยเบาหวานพยายามทำให้ได้สม่ำเสมอทุกวันหรืออย่างน้อยที่สุดสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยเบาหวานมากที่สุด

ช่วงเวลาการออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวาน ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 (พึ่งอินซูลิน) การออกกำลังกายในช่วงบ่ายตั้งแต่ 15.00-17.00 น. เพื่อเป็นการป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขณะออกกำลังกายหรือหลังการออกกำลังกาย ผู้ป่วยเบาหวานควรกินอาหารว่างก่อนออกกำลังกายประมาณ 30-60 นาที เพราะช่วงนี้เป็นเวลาที่อินซูลินจะถูกดูดซึมได้เต็มที่และจะมีการออกฤทธิ์สูงสุด แต่หากผู้ป่วยเบาหวานต้องการออกกำลังกายในช่วงเวลาอื่นก็ให้ปฏิบัติในลักษณะเดียวกันเพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ข้อควรระวังในการออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวานคือ ในระหว่างการออกกำลังกายหากผู้ป่วยเบาหวานเกิดอาการดังต่อไปนี้ให้หยุดออกกำลังกายและปรึกษาแพทย์ทันที อาการดังกล่าวคือ หน้ามืด ตาพร่ามัว หิว เหงื่อออกมาก ใจสั่น เหนื่อยมากผิดปกติ เป็นแผลที่เท้า เจ็บแน่นที่หน้าอก.

การออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวานเป็นสิ่งจำเป็นแต่ก็ต้องทำด้วยความระมัดระวังเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยเบาหวานมักจะเป็นผู้สูงอายุที่ไม่สามารถออกกำลังกายที่หักโหมได้และผู้ป่วยเบาหวานแต่ละคนอาจมีโรคแทรกซ้อนที่ไม่เหมือนกันจึงมีความพร้อมในการออกกำลังกายที่แตกต่างกัน ทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเบาหวานที่สูงอายุคือ การทำกายบริหารซึ่งจะช่วยบริหารกล้ามเนื้อและยืดหยุ่นข้อต่อต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นผลดีต่อสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานและดีกว่าการไม่ออกกำลังกายเลย แต่หากผู้ป่วยเบาหวานสามารถออกกำลังกายโดยเล่นกีฬาที่ชอบได้ย่อมส่งผลดีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้ป่วยเบาหวานเอง.

26 มกราคม 2553

การออกกำลังกายกับเบาหวาน (Exercise and Diabetes)

ดังที่ทราบกันแล้วว่า การควบคุมเบาหวานก็คือการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติที่นอกจากจะทำได้โดยการควบคุมอาหารแล้วยังสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อีกวิธีคือ การออกกำลังกาย ซึ่งจะส่งผลดีต่อระดับน้ำตาลในเลือดและยังมีประโยชน์อีกหลายประการจากการออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวาน แต่ถึงกระนั้นการออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวานก็มีข้อควรระวังด้วยเช่นกัน

ขณะออกกำลังกายร่างกายจำเป็นต้องใช้พลังงานในการเคลื่อนไหวร่างกายและแหล่งของพลังงานที่ที่สำคัญที่สุดก็คือน้ำตาลนั่นเอง หากผู้ป่วยเบาหวานออกกำลังกายได้อย่างพอดีร่างกายจะเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้กลายเป็นพลังงานในปริมาณที่มากพอจนสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดลงได้ การออกกำลังกายยังมีผลดีต่อผู้ป่วยเบาหวานคือทำให้เนื้อเยื่อของร่างกายมีความไวต่อฮอร์โมนอินซูลินมากขึ้นซึ่งจะเป็นผลให้ร่างกายสามารถใช้น้ำตาลได้มากขึ้นด้วยอินซูลินในปริมาณที่เท่าเดิม

การออกกำลังกายยังทำให้ร่างกายแข็งแรง น้ำหนักตัวลดลงและช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ทำให้สามารถควบคุมเบาหวานได้ง่ายขึ้น สุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยเบาหวานก็จะดีขึ้นอารมณ์แจ่มใสขึ้น การออกกำลังกายยังช่วยลดคลอเรสเตอรอลในเลือดให้ต่ำลงได้ทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดและเส้นเลือดหัวใจอุดตันน้อยลง

ข้อควรระวังในการออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวาน หากผู้ป่วยเบาหวานยังควบคุมเบาหวานได้ไม่ดีพอการออกกำลังกายที่ไม่ถูกต้องและหักโหมเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะกรดคั่งในเลือดได้(สารคีโทน) ผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการปลายประสาทเสื่อมที่อาจมีบาดแผลจากการออกกำลังกายโดยไม่รู้ตัวควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ส่งแรงกระแทกหนักๆไปที่เท้า ส่วนผู้ป่วยเบาหวานที่อาจมีโรคแทรกซ้อนจากหลอดเลือดหัวใจตีบหากออกกำลังกายมากเกินไปจะทำให้เกิดภาวะหัวขาดเลือด แน่นหน้าอกและหัวใจเต้นผิดปกติซึ่งเป็นอันตรายที่ร้ายแรงมาก

แม้ว่าการออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวานเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่การเริ่มต้นความเริ่มจากการควบคุมเบาหวานให้ดีเสียก่อนและก่อนออกกำลังกายควรปรึกษาแพทย์โดยการตรวจให้แน่ใจก่อนว่าผู้ป่วยเบาหวานไม่มีปัญหาเกี่ยวกับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ การออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวานควรมีการวางแผนแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่าหักโหมและทุกอย่างควรอยู่ในความดูแลของแพทย์เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพควบคู่ไปกับความปลอดภัย.