แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ทำความรู้จักเบาหวาน แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ทำความรู้จักเบาหวาน แสดงบทความทั้งหมด

17 กุมภาพันธ์ 2553

ผู้ป่วยเบาหวานควรดูแลสุขภาพอย่างไร (Diabetes Health Care)

ผู้ป่วยเบาหวานจะมีภูมิต้านทานโรคที่ต่ำกว่าปกติทำให้มีโอกาสติดเชื้อต่างๆได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการอักเสบบริเวณผิวหนัง สุขภาพช่องปาก เท้า ฯลฯ การดูแลสุขภาพร่างกายของผู้ป่วยเบาหวานจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันปัญหาจากการติดเชื้อต่างๆผู้ป่วยเบาหวานจึงควรดูแลสุขภาพดังนี้

นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอวันละ 7-8 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอหากเป็นไปได้ควรออกกำลังกายด้วยการเล่นกีฬาที่ตนเองชอบจะส่งผลดีทั้งทางร่างกายและทางจิตใจสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน พยายามหลีกเลี่ยงเรื่องต่างๆที่ทำให้เกิดความเครียดเพราะความเครียดจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ ผู้ป่วยเบาหวานต้องควบคุมน้ำหนักตัวเองอยู่เสมออย่าปล่อยให้ตัวเองอ้วน ควรชั่งน้ำหนักตัวทุกวันให้น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหากปล่อยให้อ้วนจะทำให้การควบคุมโรคเบาหวานทำได้ยากขึ้น

ผู้ป่วยเบาหวานต้องหลีกเลี่ยงจากการดื่มเหล้า-สูบบุหรี่และต้องไปพบแพทย์ตามกำหนดนัดอย่างสม่ำเสมอแม้จะไม่มีอาการผิดปกติอะไรอย่างน้อยก็เพื่อตรวจสุขภาพและรับคำแนะนำที่ถูกต้องเพราะบางครั้งโรคแทรกซ้อนมักจะเกิดก่อนที่ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวด้วยซ้ำไป นอกจากนี้ผู้ป่วยเบาหวานควรตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์อย่างละเอียดปีละครั้ง หากมีอาการผิดปกติทางสายตาเช่น ตาเกิดอาการพร่ามัวควรปรึกษาจักษุแพทย์โดยเร็ว

การดูแลสุขภาพช่องปากและฟันของผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อป้องกันการติดเชื้อและอักเสบ ให้หมั่นรักษาความสะอาดของช่องปากและฟันอย่างทั่วถึงโดยแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง อาจใช้ไหมขัดฟันเพื่อทำความสะอาดเพิ่มเติมอีกทางหนึ่งแต่ต้องระวังอย่าให้ไหมขัดฟันทำให้เหงือกเป็นแผลและควรตรวจสุขภาพช่องปากและฟันทุก 6 เดือน

การดูแลสุขภาพผิวหนังในผู้ป่วยเบาหวาน ควรอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายอย่างทั่วถึงโดยเฉพาะจุดอับชื้นเช่น ขาหนีบ รักแร้ หลังอาบน้ำต้องเช็ดให้แห้งเพราะถ้าปล่อยให้อับชื้นอาจเกิดเชื้อราได้ง่าย หากผิวหนังแห้งควรทาครีมเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาดและใส่สบายตัวระบายอากาศได้ดี ผิวหนังเป็นด่านแรกในการป้องกันเชื้อโรคจึงต้องดูแลให้ดีหากมีแผลที่ผิวหนังหรือมีอาการอักเสบ ผื่นคัน ฝีพุพอง ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที

09 กุมภาพันธ์ 2553

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) อาการผิดปกติในผู้ป่วยเบาหวาน

ผู้ป่วยเบาหวานอาจมีอาการผิดปกติที่พบได้บ่อยคือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ(Hypoglycemia) ซึ่งเป็นภาวะที่ผู้ป่วยเบาหวานอาจละเลยไม่ได้ดูแลตนเองหรือปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจะมีอาการได้หลายลักษณะเริ่มตั้งแต่อาการที่มีความรุนแรงน้อยจนถึงขั้นหมดสติเช่น มีเหงื่อออกมาก ตัวเย็น ปวด-มึนศีรษะ ชาตามปลายนิ้วมือนิ้วเท้าหรือรอบปาก หงุดหงิดขึ้นมาอย่างทันทีทันใด ตาพร่ามองเห็นเป็นภาพซ้อน หัวใจเต้นเร็วและแรง วิงเวียน หน้าซีด ชัก หมดสติ.

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกิดจากสาเหตุสำคัญคือ ผู้ป่วยเบาหวานดูแลตนเองไม่ดีพอ ส่วนมากจะเกิดจาก การฉีดอินซูลินหรือกินยาลดระดับน้ำตาลมากไปหรือกินอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายคือ กินน้อยไป กินผิดเวลาหรือทิ้งช่วงเวลาระหว่างมื้อนานเกินไป การที่ผู้ป่วยเบาหวานทำงานหรือออกกำลังกายมากเกินไปก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้เช่นกัน

การรักษาดูแลอาการที่เกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หากอาการที่เกิดกับผู้ป่วยเบาหวานไม่รุนแรงจนถึงขั้นหมดสติก็สามารถแก้ไขได้โดยการให้ผู้ป่วยกินน้ำตาลเข้าไปก็จะทำให้อาการดีขึ้นได้ ดังนั้นหากมีอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำตามที่กล่าวมาแล้ว อย่ามัวแต่รอดูอาการโดยคิดว่าเดี๋ยวก็หายเองได้ ให้รีบหาทางแก้ไขโดยทำตามคำแนะนำต่อไปนี้

ให้พยายามหาสาเหตุว่าการที่ผู้ป่วยเบาหวานเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำนั้นมีสาเหตุจากอะไรเช่น หากรู้ว่าเป็นเพราะผิดเวลาอาหารก็ให้รีบกินอาหารทันทีหรืออย่างน้อยที่สุดต้องกินอาหารว่างรองท้องไปก่อนอาการก็จะดีขึ้น หากอาการค่อนข้างรุนแรงแต่ยังไม่ถึงขั้นหมดสติ ให้ผู้ป่วยเบาหวานกินอะไรก็ได้ที่สามารถถูกดูดซึมและเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้โดยเร็วเช่น นมรสหวาน ลูกกวาดหรือน้ำหวาน ฯลฯ แล้วให้ผู้ป่วยพักผ่อนรอดูอาการสักครู่หนึ่ง หากเวลาผ่านไปสัก 10-15 นาทีแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นให้แก้ไขโดยการกินอาหารเพิ่มอีก

สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ชอบออกกำลังกายควรหาทางป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในช่วงที่กำลังออกกำลังกายและหลังออกกำลังกายโดยการกินอาหารว่างจำพวกแซนด์วิช แครกเกอร์ ฯลฯ ก่อนการออกกำลังกายก็จะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเบาหวานเกิดอาการภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้.

03 กุมภาพันธ์ 2553

เบาหวานในระยะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes Mellitus)

คนส่วนมากมักเข้าใจว่า ผู้ป่วยเบาหวานไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ความจริงแล้วโรคเบาหวานไม่ได้มีส่วนทำให้การเจริญพันธุ์ลดลงแต่ประการใด ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานจึงสามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติเพียงแต่ผลกระทบจากการเป็นโรคเบาหวานอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนแก่มารดาและทารกในครรภ์

เบาหวานกับการตั้งครรภ์แบ่งได้ 2 กลุ่มคือ 1.ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานอยู่ก่อนแล้วจึงตั้งครรภ์ในภายหลัง 2.หญิงที่กำลังตั้งครรภ์แล้วตรวจพบว่าเป็นเบาหวาน สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานอยู่ก่อนแล้วตั้งครรภ์ทีหลังวิธีการดูแลรักษาทำได้โดยการควบคุมอาหารควบคู่กับการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน หากปฏิบัติแล้วยังไม่สามารถควบคุมเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจได้ก็ต้องใช้ยาลดระดับน้ำตาลโดยการฉีดอินซูลินเท่านั้น ไม่สามารถใช้ยากินสำหรับลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เพราะการกินยาลดระดับน้ำตาลในเลือดจะส่งผลกระทบกับเด็กทารกในท้องได้ หากผู้ป่วยเบาหวานต้องการตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์และวางแผนล่วงหน้าเพื่อหาทางควบคุมเบาหวานให้ดีเพื่อไม่เกิดอันตรายต่อมารดาและทารกในครรภ์

สำหรับหญิงมีครรภ์ที่ตรวจพบเบาหวานในระหว่างตั้งครรภ์ โรคเบาหวานอาจมีสาเหตุมาจากการตั้งครรภ์ก็ได้ ดังนั้นเพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างราบรื่นควรมีการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานในหญิงมีครรภ์ทุกรายโดยการตรวจคัดกรองจะทำเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 24-28 สัปดาห์ ทำได้โดยให้หญิงมีครรภ์ดื่มน้ำตาลกลูโคส 50 กรัมที่ละลายในน้ำ 1 แก้ว รอเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงจึงตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด หากมีค่าตั้งแต่ 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไปแสดงว่าหญิงมีครรภ์มีแนวโน้มที่จะเป็นเบาหวานและต้องทำการทดสอบอย่างละเอียดต่อไป

เบาหวานในระหว่างตั้งครรภ์จะมีผลกระทบต่อมารดาและทารกดังนี้คือ ผลกระทบต่อมารดาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำเกินไป ภาวะหลอดเลือด ไต ตาและปลายประสาทเสื่อม ความดันโลหิตสูง ติดเชื้อได้ง่ายโดยเฉพาะในระบบทางเดินปัสสาวะและภาวะกรดคั่งในเลือดจากสารคีโทน ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทารกคือ เด็กจะโตกว่าปกติทำให้คลอดยากและอาจเกิดอันตรายระหว่างคลอด คลอดก่อนกำหนด แท้งหรือทารกตายในครรภ์ ทารกตัวเหลือง พิการแต่กำเนิด หัวใจล้มเหลว ซึ่งล้วนแต่เป็นอันตรายต่อทารกเป็นอย่างมาก

ภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นสามารถควบคุมหรือลดเปอร์เซ็นต์การเกิดให้น้อยลงได้หากหญิงมีครรภ์ได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดและถูกวิธี สิ่งสำคัญคือพยายามรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงกับระดับของคนปกติให้มากที่สุดทั้งก่อนและขณะตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยเบาหวานจำนวนไม่น้อยที่แพทย์ไม่แนะนำให้ตั้งครรภ์หากอยู่ในภาวะต่อไปนี้คือ หัวใจขาดเลือด เบาหวานขึ้นตารุนแรงและยังไม่ได้รักษา มีภาวะไตเสื่อม มีอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย อาเจียนอย่างรุนแรง ความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอททั้งๆที่อยู่ในระหว่างการรักษาเบาหวาน.

01 กุมภาพันธ์ 2553

เบาหวานประเภทที่ 1 (Type 1 Diabetes) ชนิดที่ต้องพึ่งอินซูลิน

เบาหวานประเภทที่ 1 หรือเบาหวานชนิดที่ต้องพึ่งอินซูลิน มีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลินโดยสิ้นเชิงเนื่องจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลผ่านเข้าไปในเนื้อเยื่อต่างๆ เพื่อเผาผลาญให้เกิดเป็นพลังงานได้ ระดับน้ำตาลในเลือดจึงสูงขึ้นเรื่อยๆ

ร่างกายของผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 จึงต้องหาพลังงานทดแทนจากการสลายโปรตีนและไขมันในร่างกายซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะทำให้เกิดสารคีโทนที่มีคุณสมบัติเป็นกรดและเป็นพิษต่อร่างกาย เมื่อเกิดสารคีโทนในเลือดมากขึ้นก็จะเกิดภาวะกรดคั่งในเลือดจากสารคีโทน มีอาการหายใจหอบลึก คลื่นไส้ อาเจียน ผิวหนังแห้ง ชีพจรเต้นเร็ว ปวดท้องและระดับความรู้สึกตัวจะค่อยๆลดลง

ภาวะกรดคั่งในเลือดจากสารคีโทน จะเกิดอาการอย่างรุนแรงและฉับพลัน การขาดอินซูลินทำให้การสลายไขมันเป็นไปอย่างรวดเร็วทำให้เกิดสารคีโทนขึ้นในเลือดมาก ถ้าผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็จะถึงขั้นหมดสติ อาการที่เกิดขึ้นหากรู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจทำให้ผู้ป่วยถึงกับเสียชีวิตได้ เบาหวานประเภทที่ 1 มักจะเกิดกับคนที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปีและผู้ป่วยเบาหวานจะมีรูปร่างที่ผอม

การดูแลผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะกรดคั่งในเลือดจากสารคีโทน ผู้ป่วยเบาหวานต้องฉีดอินซูลินทุกวันและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ เมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้นมาต้องปฏิบัติตามวิธีดูแลตัวเองเมื่อเจ็บป่วย (Sick day rules) อย่างเคร่งครัด.

27 มกราคม 2553

โรคเบาหวานมีกี่ประเภท (Type of Diabetes)

โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus) แบ่งได้เป็น 4 ประเภทคือ 1. เบาหวานประเภทที่ 1 (Type 1 Diabetes) 2. เบาหวานประเภทที่ 2 (Type 2 Diabetes) 3. เบาหวานอื่นๆ (Other Specific Types) เช่น โรคของตับอ่อน โรคทางต่อมไร้ท่อเป็นต้น และ 4. เบาหวานที่เกิดกับคนตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes Mellitus)

โรคเบาหวานเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่มีความประมาทในการใช้ชีวิตประจำวัน ยิ่งพวกที่กินตามใจปากและสรรหาสิ่งที่ทำร้ายร่างกายมาสู่ตัวเช่น เหล้า บุหรี่ สิ่งเสพติด ฯลฯ จะมีโอกาสเป็นเบาหวานได้มากกว่าคนทั่วไปไม่จำเป็นว่าโรคเบาหวานต้องเกิดกับผู้สูงอายุเท่านั้น ผู้ป่วยเบาหวานในประเทศไทยส่วนมากจะเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 ซึ่งเบาหวานแต่ละประเภทก็มีความแตกต่างกันหลายๆอย่างทั้งในเรื่องการดูแลสุขภาพ การใช้ยา การควบคุมอาการ ฯลฯ ความเจริญก้าวหน้าของการรักษาโรคเบาหวานจะแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1. การค้นพบอินซูลิน 2. การใช้ยาปฏิชีวนะ และ 3. การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง ยิ่งการรักษาเบาหวาน (Diabetes Treatment) มีความก้าวหน้ามากขึ้นเท่าใดก็จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการและใช้ชีวิตอยู่กับเบาหวานได้นานขึ้นในระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน


โดยหลักแล้วโรคเบาหวานไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ สิ่งที่ทำได้คือการหาทางควบคุมอาการของโรคคือระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เท่ากับหรือใกล้เคียงกับคนปกติให้ได้มากที่สุด การกระทำดังกล่าวจะป้องกันอาการที่อาจเกิดแทรกซ้อนขึ้นมาจากโรคเบาหวาน การควบคุมน้ำตาลในเลือดนั้นต้องมีการปรับพฤติกรรมการกิน การออกกำลังกาย การพักผ่อนและการใช้ยาให้เหมาะสมจึงจะสามารถควบคุมอาการของโรคให้อยู่ในระดับปกติได้ ผู้ป่วยที่มีกำลังใจดีและยอมรับความจริงจะสามารถอยู่กับโรคเบาหวานได้อย่างที่มีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงกันคนปกติ

26 มกราคม 2553

การออกกำลังกายกับเบาหวาน (Exercise and Diabetes)

ดังที่ทราบกันแล้วว่า การควบคุมเบาหวานก็คือการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติที่นอกจากจะทำได้โดยการควบคุมอาหารแล้วยังสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อีกวิธีคือ การออกกำลังกาย ซึ่งจะส่งผลดีต่อระดับน้ำตาลในเลือดและยังมีประโยชน์อีกหลายประการจากการออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวาน แต่ถึงกระนั้นการออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวานก็มีข้อควรระวังด้วยเช่นกัน

ขณะออกกำลังกายร่างกายจำเป็นต้องใช้พลังงานในการเคลื่อนไหวร่างกายและแหล่งของพลังงานที่ที่สำคัญที่สุดก็คือน้ำตาลนั่นเอง หากผู้ป่วยเบาหวานออกกำลังกายได้อย่างพอดีร่างกายจะเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้กลายเป็นพลังงานในปริมาณที่มากพอจนสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดลงได้ การออกกำลังกายยังมีผลดีต่อผู้ป่วยเบาหวานคือทำให้เนื้อเยื่อของร่างกายมีความไวต่อฮอร์โมนอินซูลินมากขึ้นซึ่งจะเป็นผลให้ร่างกายสามารถใช้น้ำตาลได้มากขึ้นด้วยอินซูลินในปริมาณที่เท่าเดิม

การออกกำลังกายยังทำให้ร่างกายแข็งแรง น้ำหนักตัวลดลงและช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ทำให้สามารถควบคุมเบาหวานได้ง่ายขึ้น สุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยเบาหวานก็จะดีขึ้นอารมณ์แจ่มใสขึ้น การออกกำลังกายยังช่วยลดคลอเรสเตอรอลในเลือดให้ต่ำลงได้ทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดและเส้นเลือดหัวใจอุดตันน้อยลง

ข้อควรระวังในการออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวาน หากผู้ป่วยเบาหวานยังควบคุมเบาหวานได้ไม่ดีพอการออกกำลังกายที่ไม่ถูกต้องและหักโหมเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะกรดคั่งในเลือดได้(สารคีโทน) ผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการปลายประสาทเสื่อมที่อาจมีบาดแผลจากการออกกำลังกายโดยไม่รู้ตัวควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ส่งแรงกระแทกหนักๆไปที่เท้า ส่วนผู้ป่วยเบาหวานที่อาจมีโรคแทรกซ้อนจากหลอดเลือดหัวใจตีบหากออกกำลังกายมากเกินไปจะทำให้เกิดภาวะหัวขาดเลือด แน่นหน้าอกและหัวใจเต้นผิดปกติซึ่งเป็นอันตรายที่ร้ายแรงมาก

แม้ว่าการออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวานเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่การเริ่มต้นความเริ่มจากการควบคุมเบาหวานให้ดีเสียก่อนและก่อนออกกำลังกายควรปรึกษาแพทย์โดยการตรวจให้แน่ใจก่อนว่าผู้ป่วยเบาหวานไม่มีปัญหาเกี่ยวกับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ การออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวานควรมีการวางแผนแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่าหักโหมและทุกอย่างควรอยู่ในความดูแลของแพทย์เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพควบคู่ไปกับความปลอดภัย.

25 มกราคม 2553

การดูแลสุขภาพเมื่อเป็นโรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus)

เบาหวาน (Diabetes Mellitus) เป็นโรคที่เรื้อรังและไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ สิ่งที่ทำได้คือการประคับประคองไม่ให้เกิดอาการของโรคแทรกซ้อนซึ่งจะทำให้อาการหนักมากขึ้น เบาหวานเป็นโรคที่หากไม่เกิดขึ้นกับตัวเองแล้วจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาแต่หากเกิดขึ้นกับตัวเองแล้วจะเกิดอาการกลัว ตกใจและสับสนซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยเบาหวานเอง

สุขภาพจิตของผู้ป่วยเบาหวานจะแสดงออกได้หลายลักษณะ บางคนเมื่อรู้ว่าเป็นเบาหวานจะเกิดการต่อต้านและรู้สึกฉุนเฉียว หงุดหงิดง่ายที่ต้องมีภาระในการบำบัดรักษาเบาหวานทำให้กิจวัตรประจำวันของตนเองต้องเปลี่ยนไป บางคนอาจเกิดอาการไม่ยอมรับความจริง ไม่กล้าไปพบแพทย์ ไม่ยอมรับฟังคำอธิบายเกี่ยวกับโรคเบาหวานจากใครทั้งสิ้น บางคนเมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นเบาหวานจะพยายามปกปิดและทำตัวเหมือนไม่ได้เป็นเบาหวาน เมื่อต้องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก็จะพยายามควบคุมทุกอย่างให้คนรอบข้างเห็นว่าไม่ได้เป็นเบาหวานแต่หลังจากนั้นก็ปล่อยปละละเลยเช่นเดิม

ผู้ป่วยเบาหวานบางคนก็ยอมรับความจริงให้ความร่วมมือและพยายามที่จะบำบัดรักษาโรคเบาหวานที่เกิดกับตัวเอง ไม่ว่าสุขภาพจิตและอารมณ์ของผู้ป่วยเบาหวานจะแสดงออกมาในลักษณะใด สมาชิกในครอบครัวหรือคนรอบข้างควรเข้าใจและให้กำลังใจพยายามอธิบายให้ผู้ป่วยเบาหวานเข้าใจถึงสาเหตุและวิธีการรักษาโรคเบาหวานด้วยความมีเหตุมีผล ให้ผู้ป่วยเบาหวานพยายามปรับตัวให้เข้ากับกิจวัตรประจำวันในรูปแบบใหม่เพื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถอยู่กับเบาหวานได้อย่างคนปกติ

สิ่งที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องปรับตัวคือ หมั่นมาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอและตั้งใจปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ด้วยความพยายาม การปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์จะมีเป้าหมายอยู่ที่การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงกับคนปกติโดยมีแผนการรักษาคือ ควบคุมอาหาร(ปรับพฤติกรรมการกินอาหาร) ออกกำลังกายและมาพบแพทย์ตามกำหนดเพื่อตรวจร่างกายและประเมินอาการโรคเบาหวานเพื่อหาทางปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาโรคเบาหวานให้เหมาะสมกับตัวผู้ป่วย

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถเผชิญหน้าและอยู่กับโรคเบาหวานได้คือ ตัวผู้ป่วยเอง หากตัวผู้ป่วยท้อแท้ไม่ยอมช่วยเหลือตัวเองหรือให้ความร่วมมือกับแพทย์ในการรักษาเบาหวานก็ยากที่จะประคับประคองให้อยู่กับโรคเบาหวานอย่างปกติสุขได้ คนรอบข้างหรือสมาชิกในครอบครัวคงทำได้แค่ให้กำลังใจ ปลอบใจ อธิบายด้วยเหตุผลเพื่อให้ตัวผู้ป่วยเองเกิดความรักตัวเองและเข้าใจถึงความห่วงใยของคนรอบข้างทำให้เกิดกำลังใจในการรักษาตนเอง ถึงแม้โรคเบาหวานไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แต่มีคนจำนวนมากที่ตั้งใจรักษาดูแลสุขภาพพยายามควบคุมและอยู่กับโรคเบาหวานจนสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้เหมือนกับคนปกติ.

06 มกราคม 2553

โรคเบาหวานคืออะไร (Diabetes) และสาเหตุโรคเบาหวาน

โรคเบาหวานคือภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ สาเหตุโรคเบาหวาน (Causes of Diabetes) เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้ตามปกติ เมื่อปริมาณน้ำตาลในเลือดมีมากจนเกินกว่าความสามารถของไตที่จะดึงน้ำตาลกลับสู่กระแสเลือดได้ทำให้มีน้ำตาลถูกขับออกจากร่างกายมาปะปนอยู่ในปัสสาวะซึ่งเป็นอาการโรคเบาหวานที่สำคัญที่คนทั่วไปรู้จักกันดี

สาเหตุโรคเบาหวานมีที่มาจากการที่ร่างกายต้องใช้พลังงานโดยการย่อยอาหารจำพวกแป้งให้กลายเป็นน้ำตาลกลูโคสและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อส่งผ่านไปยังเซลล์ กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อส่วนต่างๆของร่างกาย การที่ร่างกายมีน้ำตาลในกระแสเลือดในปริมาณสูงเนื่องจากมีปัญหาในการใช้ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ที่ผลิตจากตับอ่อนซึ่งฮอร์โมนจะเป็นตัวนำน้ำตาลกลูโคสจากกระแสเลือดเข้าไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ

ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีปัญหากับฮอร์โมนอินซูลินคือร่างกายผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ไม่เพียงพอที่
จะทำหน้าที่หรือร่างกายมีฮอร์โมนอินซูลินพอแต่เป็นชนิดที่ไม่มีคุณภาพจึงทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้หรือเอาไปใช้ได้แต่ก็ไม่เต็มร้อยผลก็คือทำให้มีน้ำตาลเหลืออยู่ในกระแสเลือดอยู่เป็นจำนวนมากกว่าปกติ

อาการโรคเบาหวาน (Diabetes Symptoms) อย่างหนึ่งที่สังเกตได้ชัดเจนคือจะมีมดขึ้นปัสสาวะ เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากจนไตที่มีหน้าที่กรองเอาสารอาหารที่ยังมีประโยชน์ต่อร่างกาย (รวมทั้งน้ำตาลด้วย) กลับสู่กระแสเลือดจนไตต้องทำงานหนักสาเหตุเพราะปริมาณน้ำตาลในเลือดที่สูงมาก เมื่อไตทำงานหนักจนเกินขีดความสามารถทำให้น้ำตาลหลุดรอดออกมาปะปนอยู่ในปัสสาวะ

โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus) ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจกัน อาการโรคเบาหวานและสาเหตุโรคเบาหวานเป็นสิ่งที่สามารถหาข้อมูลและเรียนรู้ความเป็นมาเป็นไปของโรคได้ หากคุณมีอาการของโรคเบาหวานจงทำใจยอมรับและพยายามที่จะอยู่กับเบาหวานให้ได้แม้ว่าคุณภาพชีวิตจะลดลงไปบ้างแต่เนื่องจากโรคเบาหวานเป็นโรคที่ไม่อาจรักษาให้หายขาดได้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจึงต้องหาทางควบคุมเบาหวานให้ได้เพื่อที่จะอยู่กับโรคเบาหวานได้อย่างมีความสุข