แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ การควบคุมโรคเบาหวาน แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ การควบคุมโรคเบาหวาน แสดงบทความทั้งหมด

26 มกราคม 2554

ผู้ป่วยเบาหวาน(Diabetes) กับอาหารมังสวิรัติ (Vegetarian)

อาหารมังสวิรัติ(Vegetarian) เป็นที่สนใจสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคภัยไข้เจ็บร้ายแรงหลายๆโรคเช่น โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ โรคมะเร็ง รวมทั้งโรคเบาหวานด้วย เนื่องจากมีข้อมูลมากมายที่แสดงให้เห็นว่าคนที่กินมังสวิรัติจะมีอายุยืนกว่า สุขภาพดีกว่าและมีโอกาสเป็นโรคภัยไข้เจ็บที่

ร้ายแรงน้อยกว่า โรคภัยไข้เจ็บที่ร้ายแรงเหล่านี้ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ถูกต้อง (ไม่ถูกสัดส่วนและไม่ถูกหลักโภชนาการ) การควบคุมโรคที่ร้ายแรงต่างๆ จำเป็นต้องใช้การควบคุมการกินอาหารให้ถูกต้องเพื่อเป็นการรักษาและบำบัดโรคทั้งนี้รวมถึงผู้ป่วยโรคเบาหวานด้วย

คนที่กินมังสวิรัติไม่ว่าจะเป็นประเภทที่เคร่งครัดต่อการกินมังสวิรัติ (Vegan) หรือประเภทที่งดเว้นไม่กินเฉพาะเนื้อสัตว์แต่ยังคงกินไข่และนม (Lacto-ovo-vegetarian) ก็สามารถได้รับประโยชน์จากการกินมังสวิรัติได้รวมทั้งผู้ป่วยโรคเบาหวาน (Diabetes) หากมีการวางแผนการกินอาหารที่ถูกต้อง คนที่กินอาหารมังสวิรัติจะมีปัญหาเรื่องโรคหัวใจ ระดับไขมันในเลือดและโรคความดันโลหิตน้อยกว่าคนที่ไม่กินมังสวิรัติเนื่องจากการกินมังสวิรัติเป็นการลดอาหารจำพวกไขมันที่อิ่มตัวและคอเลสเทอรอลไปโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังได้ประโยชน์จากสารต้านอนุมูลอิสระ สารไลโคพีน (Lycopene) ไอโซฟลาโวน (Isoflavone) และเส้นใยอาหาร (Fiber) กับโพแทสเซียมอีกด้วย

คนที่กินมังสวิรัติส่วนใหญ่จะมีดรรชนีมวลกายต่ำเพราะอาหารมังสวิรัติมีปริมาณเส้นใยอาหารมากกว่าอาหารทั่วไป 2-3 เท่า อาหารที่มีเส้นใยมากยังช่วยลดปริมาณแคลอรีที่จะได้รับจากอาหารจึงทำให้คนที่กินอาหารมังสวิรัติสามารถควบคุมน้ำหนักได้ดีกว่าและอาหารมังสวิรัติส่วนมากจะมีส่วนประกอบของธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีสูงจึงมีธาตุโครเมียมที่ช่วยเสริมการทำงานของอินซูลิน (Insulin) ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

อาหารมังสวิรัติยังช่วยลดโรคแทรกซ้อนจากโรคไต เนื่องจากมีปริมาณโปรตีนต่ำกว่าอาหารทั่วไปอีกทั้งโปรตีนที่ได้จากอาหารมังสวิรัตินั้นเป็นโปรตีนจากพืชที่ช่วยลดโปรตีนในปัสสาวะ (Proteinuria) และลดอัตราการกรองปัสสาวะของไต (Glomerular filtration rate) จึงช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานลดอันตรายที่จะเกิดจากไตได้

หลักการควบคุมอาหารของผู้ป่วยเบาหวาน (Diabetes Nutrition Guide) ต้องทำให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่จริงและความต้องการสารอาหารของร่างกายในแต่ละคน โดยการควบคุมอาหารต้องให้มีความเหมาะสมเพื่อให้ร่างกายของผู้ป่วยเบาหวานได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน มีน้ำหนักอยู่ในระดับที่เหมาะสม สามารถควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันให้ใกล้เคียงกับระดับปกติและสามารถป้องกันหรืออย่างน้อยที่สุดก็ชะลอโรคแทรกซ้อนจากเบาหวานให้เกิดช้าที่สุด.

03 มีนาคม 2553

การวัดระดับน้ำตาลในเลือด (Blood Sugar Measurement) ของผู้ป่วยเบาหวาน

ระดับน้ำตาลในเลือด (Blood Sugar Level) ของคนปกติจะสูงขึ้นไม่มากนักหลังจากกินอาหารแต่ละมื้อและระดับน้ำตาลในเลือดจะลดลงสู่ระดับปกติอย่างรวดเร็วภายในเวลา 2 ชั่วโมง แต่สำหรับผู้ป่วยเบาหวานแล้วระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากการกินอาหารแล้วจะสูงขึ้นมากและจะลดลงสู่ระดับปกติค่อนข้างช้า ระดับน้ำตาลในเลือดหลังการกินอาหารจะสูงขึ้นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับประเภทของอาหารที่กินและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดยังขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคเบาหวานที่เป็นอยู่ด้วย ถ้าเป็นเบาหวานมากน้ำตาลในเลือดก็จะเพิ่มขึ้นมากหลังจากการกินอาหาร การหาวิธีที่จะบอกค่าระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อใช้ในการประเมินผลการควบคุมโรคเบาหวานอาจทำได้ดังนี้

Fasting Blood Sugar (FBS) เป็นการวัดระดับน้ำตาลในเลือดโดยตรงโดยการเจาะเลือดก่อนการกินอาหารเช้า (ห้ามกินอะไรหลังเที่ยงคืนก่อนการเจาะเลือด) การวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยวิธี FBS นี้จะขึ้นลงเร็วตามอาหารที่กินเข้าไปทำให้นำผลมาเปรียบเทียบในการควบคุมเบาหวานได้ยาก จึงจำเป็นต้องหาวิธีวัดน้ำตาลในเลือดด้วยวิธีอื่นที่ให้ผลแม่นยำและมีความแน่นอนกว่า

เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะมีการคั่งของน้ำตาลในเลือด น้ำตาลจะไปจับตัวกับสารโปรตีนของเนื้อเยื่อต่างๆและจับกับโปรตีนที่ลอยอยู่ในกระแสเลือดจนไม่สามารถหลุดออกมาเป็นโมเลกุลอิสระของน้ำตาลได้จนกว่าโปรตีนนั้นจะสูญสลายหรือมีการสร้างขึ้นมาทดแทน ก่อนการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหากมีการกินอาหารจะไม่ทำให้เปอร์เซ็นต์ของน้ำตาลที่เกาะกับโปรตีนมีการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้นหากวัดระดับน้ำตาลที่จับตัวเกาะกับโปรตีนจะทำให้ได้ผลการวัดระดับน้ำตาลที่แม่นยำกว่าวิธี FBS โปรตีนที่นิยมวัดเปอร์เซ็นต์น้ำตาลที่จับอยู่ด้วยคือ ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) เป็นโปรตีนที่อยู่ในเม็ดเลือดซึ่งเราจะเรียกฮีโมโกลบินที่มีน้ำตาลไปเกาะอยู่ด้วยว่า ไกลโคซิเลตฮีโมโกลบิน (Glycosylated Hemoglobin)

เมื่อไกลโคซิเลตฮีโมโกลบินจับตัวกับน้ำตาลที่มีความเข้มข้นสูงจะถูกเรียกว่า ฮีโมโกลบินเอวัน ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการกำเริบของโรคเบาหวาน ปริมาณของฮีโมโกลบินเอวันจะสะท้อนให้เห็นทั้งเวลาและระดับที่น้ำตาลในเลือดสูงด้วย ในปัจจุบันการวัดระดับน้ำตาลในเลือดจึงนิยมวัดค่ารวมของฮีโมโกลบินเอวัน จะทำให้สามารถนำผลที่ได้ไปประเมินและเปรียบเทียบผลการควบคุมเบาหวานได้แม่นยำกว่า.

15 กุมภาพันธ์ 2553

วิธีปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องเดินทาง (Traveling with Diabetes)

ในชีวิตประจำวันของผู้ป่วยเบาหวานบางโอกาสก็มีความจำเป็นต้องเดินทาง อาจเป็นการเดินทางเพื่อพักผ่อนหรือเดินทางไปทำธุระการงาน ไม่ว่าจะอย่างไรผู้ป่วยเบาหวานก็ต้องเคร่งครัดในเรื่องของการควบคุมอาหาร การออกกำลังกายและการฉีดยาหรือกินยาควบคุมเบาหวานอยู่เสมอ โรคเบาหวานเป็นเสมือนเพื่อนที่คอยติดตามตัวผู้ป่วยเบาหวานไปอย่างใกล้ชิด หากผู้ป่วยเบาหวานละเลยต่อการดูแลตนเองโดยเฉพาะเรื่องการควบคุมอาหารก็อาจเกิดอันตรายได้ แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ควรกังวลกับการควบคุมเบาหวานมากเกินไป ให้พยายามปฏิบัติตัวให้ใกล้เคียงกับเวลาที่อยู่บ้านให้มากทีสุดและทำให้ได้อย่างสม่ำเสมอก็จะสามารถควบคุมเบาหวานและมีความสุขกับการเดินทางได้เช่นกัน

การเดินทางโดยทางรถยนต์ ผู้ป่วยเบาหวานควรจะพกพาอาหารที่สามารถนำออกมาใช้ได้ง่ายในยามฉุกเฉินเช่น รถยางแตกหรือร้านอาหารอยู่ไกลทำให้ต้องเลื่อนเวลาอาหารออกไป ผู้ป่วยเบาหวานต้องกินอาหารตรงเวลาเสมอหากเกิดปัญหาเฉพาะหน้าขึ้นในการเดินทางเช่น หาร้านอาหารไม่ได้ก็ให้รองท้องด้วยอาหารที่เตรียมไปก่อนอย่าปล่อยให้หิวจัดโดยเด็ดขาด

อาหารที่ควรพกพาไปพร้อมกับการเดินทางเช่น นมจืดพร่องมันเนย(กล่อง) น้ำผลไม้ธรรมชาติ ผลไม้แห้งธรรมชาติ(ลูกเกด) ขนมปังกรอบ ส้ม กล้วย แอ๊ปเปิ้ล ชมพู่ ฯลฯ การใช้อาหารพกพาให้กินนมจืดหนึ่งกล่องจะช่วยบรรเทาความหิวได้ประมาณ 1-2 ชั่วโมงหรือกินลูกเกด 2 ช้อนโต๊ะกับน้ำเปล่าหรือเครื่องดื่มไดเอท อาจยึดหลักง่ายๆว่า ทุกๆชั่วโมงที่เลื่อนเวลาอาหารออกไปให้กินอาหารจำพวกแป้ง/ข้าว 1 ส่วนหรือผลไม้ 1 ส่วนเช่นขนมปังกรอบจืด 3 แผ่นหรือแอ๊ปเปิ้ล 1 ผล เป็นต้น

การเลือกร้านอาหารในระหว่างเดินทางสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ควรเลือกร้านที่สามารถทำอาหารตามสั่งได้ จะทำให้สามารถควบคุมอาหารได้ง่ายกว่าการกินอาหารสำเร็จรูป หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่กึ่งสุกกึ่งดิบเพราะหากผู้ป่วยเบาหวานเกิดอาการท้องเสียขึ้นมาจะทำให้การควบคุมเบาหวานยุ่งยากยิ่งขึ้น

หากผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องใช้อินซูลินในระหว่างเดินทาง ไม่ควรเก็บอินซูลินไว้ในกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ที่มักจะไม่สะดวกในการนำอินซูลินออกมาใช้ ควรเก็บไว้ในกระเป๋าถือที่สามารถหิ้วติดตัวได้ตลอดเวลาเพื่อความสะดวกในการหยิบออกมาใช้และให้ระมัดระวังเรื่องอุณหภูมิในการเก็บอินซูลินด้วยเพื่อป้องกันอินซูลินเสื่อมคุณภาพ นอกจากนี้ควรเตรียมอินซูลินเผื่อไว้ให้มากกว่าปกติไว้ก่อนในกรณีที่อาจต้องเพิ่มจำนวนวันเดินทางที่เป็นเหตุสุดวิสัย.

08 กุมภาพันธ์ 2553

หมวดอาหารแลกเปลี่ยน (Food Exchange List) ช่วยควบคุมอาหารเพื่อควบคุมเบาหวาน

การควบคุมอาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมเบาหวานได้ การควบคุมอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับหมวดอาหารแลกเปลี่ยนเพื่อช่วยให้การควบคุมเบาหวานได้ผล หมวดอาหารแลกเปลี่ยนจะประกอบด้วยอาหารประเภทเดียวกันและมีคุณค่าทางโภชนาการที่ใกล้เคียงกันสามารถแลกเปลี่ยนทดแทนกันได้ภายในหมวดเดียวกัน

หมวดอาหารแลกเปลี่ยนแบ่งออกเป็น 6 หมวดคือ

1. หมวดแป้ง/ข้าว อาหารในหมวดนี้ 1 ส่วนจะมีคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม โปรตีน 3 กรัมกับไขมันอีกเล็กน้อย อาหารในหมวดแป้ง/ข้าวนี้ 1 ส่วนจะให้พลังงาน 80 กิโลแคลอรี ตัวอย่างเช่น ข้าวสวย/ข้าวเหนียว 1 ทัพพี(เล็ก) สามารถแลกเปลี่ยนกับ ก๋วยเตี๋ยว/เส้นหมี่/วุ้นเส้น/บะหมี่ อย่างใดอย่างหนึ่งในปริมาณ 1 ทัพพี

2. หมวดเนื้อสัตว์(โปรตีน) อาหารในหมวดนี้ 1 ส่วน (2 ช้อนโต๊ะ)จะให้โปรตีน 7 กรัม ส่วนพลังงานที่ได้จะขึ้นอยู่กับปริมาณไขมันที่มีอยู่ในเนื้อสัตว์ ตัวอย่างเช่น อาหารที่เนื้อล้วนไม่ติดมัน (ปลาต่างๆ) 30 กรัม สามารถแลกเปลี่ยนกับเนื้อปู 4 ช้อนโต๊ะ(60 กรัม) หรือหอยแครง 10 ตัวหรือลูกชิ้นหมู 6 ลูก

3. หมวดผัก จะมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตน้อยและให้พลังงานน้อย ผัก 1 ส่วน ให้คาร์โบไฮเดรต 5 กรัม โปรตีน 2 กรัม พลังงาน 25 กิโลแคลอรีและเส้นใยอาหาร 2-3 กรัม หากผู้ป่วยเบาหวานกินผักโดยไม่ใช้น้ำมันในการปรุงอาหารก็สามารถกินได้โดยไม่จำกัดปริมาณ ตัวอย่าง ผัก 1 ส่วนเท่ากับผักสุกครึ่งถ้วยตวงหรือผักสด 1 ถ้วยตวง

4. หมวดผลไม้ ผลไม้ 1 ส่วนจะให้คาร์โบไฮเดรต 15 กรัม พลังงาน 60 กิโลแคลอรี เส้นใยอาหารมากกว่า 2 กรัม ตัวอย่างเช่นผลไม้ 1 ส่วนจะเท่ากับมะละกอสุก 8 คำ หรือสับปะรด 1 วง(หนาครึ่งนิ้ว) หรือส้มโอ 3 กลีบเล็กหรือกล้วยหอม (9 นิ้ว) ครึ่งผล ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยงผลไม้เชื่อม ผลไม้บรรจุกระป๋องและผลไม้กวน

5. หมวดนม นม 1 ส่วนจะให้คาร์โบไฮเดรต 12 กรัม โปรตีน 8 กรัม สำหรับจำนวนพลังงานจะมากน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนไขมันเนยที่อยู่ในนม ตัวอย่างเช่น นมจืดไขมันเต็ม 1 ส่วน(240 มิลลิลิตร) จะเท่ากับนมจืดพร่องไขมัน 1 ส่วน(240 มิลลิลิตร) ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยงนมที่มีรสหวานทุกชนิด

6. หมวดไขมัน อาหารในหมวดนี้ 1 ส่วนเท่ากับน้ำมัน 1 ช้อนชา ให้ไขมัน 5 กรัมและพลังงาน 45 กิโลแคลอรี ตัวอย่างเช่น เนยเทียม 1 ช้อนชาจะเท่ากับ มายองเนส 1 ช้อนชาหรือน้ำสลัด 1 ช้อนโต๊ะหรือน้ำมันพืช 1 ช้อนชา ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกกินไขมันชนิดไม่อิ่มตัวแทนไขมันชนิดที่อิ่มตัว

ปริมาณอาหารในแต่ละวันที่ผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมในแต่ละหมวดอาหารแลกเปลี่ยนคือ หมวดข้าว/แป้ง ต้องวันละ 6-11 ส่วน หมวดโปรตีน มื้อละ 2-3 ส่วนวันละ 2-3 มื้อ หมวดผักวันละ 3-5 ส่วน หมวดผลไม้วันละ 2-4 ส่วน หมวดนมและผลิตภัณฑ์จากนม วันละ 2-3 ส่วน สำหรับหมวดไขมันหากหลีกเลี่ยงไม่กินเลยได้จะดีมาก ประโยชน์ของหมวดอาหารแลกเปลี่ยนจะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถจัดรายการอาหารของตนเองได้ ทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงรายการอาหารเพื่อลดความจำเจที่ต้องควบคุมอาหาร.

07 กุมภาพันธ์ 2553

การควบคุมอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน(Diabetes Nutrition guide)

การควบคุมอาหารหรือการปรับพฤติกรรมในการกินอาหารเป็นหัวใจสำคัญของการควบคุมเบาหวานเลยก็ว่าได้ การจะควบคุมเบาหวานให้ได้ผลต้องอาศัยทั้งการใช้ยารักษาเบาหวานควบคู่

กับการควบคุมอาหารจึงจะได้ผลดี การควบคุมอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานจึงเป็นการรู้จักเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกหมู่ในปริมาณที่พอเหมาะกับความต้องการของร่างกายและร่างกายต้องได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนอย่างมีความสมดุล

สำหรับผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1(ต้องพึ่งอินซูลิน) การควบคุมอาหารต้องยึดหลักของความสม่ำเสมอเป็นสำคัญเนื่องจากแพทย์จะคำนวณปริมาณอินซูลินที่จะฉีดให้ผู้ป่วยเบาหวานให้พอดีกับอาหารที่ผู้ป่วยจะกินและมีความสมดุลกับการทำกิจกรรมประจำวันด้วย ดังนั้นการควบคุมอาหารของผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 (Type 1 Diabetes) จะต้องกินอาหารให้ตรงเวลาในแต่ละวันและชนิดของอาหารรวมทั้งปริมาณของอาหารควรจะคล้ายๆกัน อินซูลินและอาหารที่กินเข้าไปจะทำงานควบคู่กันไปเพื่อปรับระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ถ้าการกินอาหารและอินซูลินไม่สมดุลกันจะส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงกว่าปกติได้ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้ป่วยเบาหวานอย่างแน่นอน

สำหรับผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 (ไม่พึ่งอินซูลิน) ผู้ป่วยมักจะมีน้ำหนักเกินหรืออ้วน การควบคุมอาหารจึงทำได้โดยการกินอาหารให้น้อยลงโดยเฉพาะอาหารจำพวกไขมัน กินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการควบคู่ไปกับการออกกำลังกายเป็นประจำก็จะช่วยให้สามารถควบคุมเบาหวานได้ดี

เวลาในการกินอาหารของผู้ป่วยเบาหวาน ควรกินอาหารหลังจากกินยาหรือฉีดอินซูลินแล้วประมาณ 30 นาทีให้สม่ำเสมอและตรงเวลา พยายามกินอาหารให้ตรงเวลาอย่างดอาหารมื้อหนึ่งแล้วไปกินเพิ่มในมื้อถัดไป ผู้ป่วยเบาหวานบางรายอาจมีการแบ่งการกินอาหารเป็นมื้อเล็กๆและมีอาหารว่างระหว่างมื้อแทนการกินอาหารมื้อใหญ่ 3 มื้อก็ได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความเห็นของแพทย์ แต่โดยรวมแล้วจำนวนแคลอรีที่ผู้ป่วยเบาหวานได้รับในแต่ละวันยังคงเท่าเดิม

ปริมาณในการกินอาหารของผู้ป่วยเบาหวาน แพทย์หรือนักโภชนาการจะคำนวณปริมาณอาหารของผู้ป่วยในแต่ละวันให้ออกมาเป็นจำนวนแคลอรีซึ่งจะนำมาจัดเป็นสัดส่วนของอาหารหมวดต่างๆในแต่ละมื้อ ทั้งนี้การคำนวณปริมาณอาหารที่จะกินในแต่ละมื้อยังต้องคำนึงถึงความแตกต่างของผู้ป่วยแต่ละคนเช่น อายุ น้ำหนักตัว เพศและกิจกรรมประจำวัน ที่ต้องนำมาร่วมพิจารณาในการกำหนดปริมาณอาหารของผู้ป่วยเบาหวานในแต่ละมื้อ

ผู้ป่วยเบาหวานต้องกินอาหารตามสัดส่วนที่แพทย์หรือนักโภชนาการกำหนดให้ทั้งในเรื่องชนิดและปริมาณอาหารที่ใช้ในการควบคุมเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานควรเรียนรู้เรื่องหมวดอาหารแลกเปลี่ยนเพื่อนำความรู้ไปใช้จัดรายการอาหารของตนเองเพื่อลดความเบื่อหน่ายหรือความจำเจในการกินอาหารควบคุมเบาหวานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยเบาหวาน.

04 กุมภาพันธ์ 2553

อินซูลิน (Insulin Preparations) ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด

ปัจจุบันยาที่ใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือดมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกันคือ 1.ยาฉีดอินซูลิน (Insulin Preparations) 2. ยากิน (Oral Hypoglycemic Agents) ยาฉีดอินซูลินใช้ในผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 และเบาหวานประเภทที่ 2 ที่ไม่สามารถควบคุมเบาหวานได้โดยการกินยา การควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย อินซูลินจะได้มาจาก 2 แหล่งคือ การสกัดจากตับอ่อนของหมูและวัว อีกแหล่งคือการสังเคราะห์จากวิธีทางพันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) โดยทั่วไปใน 1 มิลลิลิตร(ซีซี)ของยาจะมีอินซูลิน 100 ยูนิต ซึ่งเรียกว่า ยู 100 อินซูลิน ( U 100 Insulin)

อินซูลินสามารถจำแนกตามการออกฤทธิ์ของอินซูลินได้เป็น 4 ชนิดคือ

1. อินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็วมาก (Rapid-acting Insulin) อินซูลินชนิดนี้ถูกเรียกว่า อินซูลินชนิดน้ำใส (ตามลักษณะทางกายภาพของยา) ใช้ฉีดในเวลาที่ต้องการลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหาร เมื่อฉีดอินซูลินเข้าใต้ผิวหนังจะออกฤทธิ์เร็วภายใน 10-15 นาทีและมีฤทธิ์อยู่นาน 3-5 ชั่วโมง

2. อินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็วและสั้น (Short-acting Insulin) ใช้ฉีดก่อนอาหารครึ่งชั่วโมงเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลหลังอาหารหรือใช้ฉีดเมื่อมีภาวะกรดคั่งในเลือดจากสารคีโทน เมื่อฉีดอินซูลินชนิดนี้เข้าใต้ผิวหนังจะออกฤทธิ์ในเวลา 30-60 นาทีและมีฤทธิ์อยู่นาน 5-7 ชั่วโมง

3. อินซูลินชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง (Intermediate-acting Insulin) อินซูลินชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นน้ำสีขาวขุ่นจึงมักเรียกกันว่า อินซูลินชนิดน้ำขุ่น โดยทั่วไปจะใช้เป็นอินซูลินตัวหลักในการรักษาโรคเบาหวานโดยฉีดเข้าใต้ผิวหนังวันละ 1-2 ครั้ง หลังฉีดอินซูลินแล้วจะออกฤทธิ์ในเวลา 2-4 ชั่วโมงและมีฤทธิ์อยู่นาน 18-24 ชั่วโมง

4. อินซูลินชนิดออกฤทธิ์ยาว (Long-acting Insulin) มีลักษณะเป็นน้ำใสใช้เพื่อปรับระดับอินซูลินในเลือดให้สูงขึ้นในปริมาณหนึ่งตลอดวันและป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เมื่อฉีดอินซูลินชนิดออกฤทธิ์ยาวเข้าใต้ผิวหนังอินซูลินจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 2 ชั่วโมงและมีฤทธิ์นาน 24 ชั่วโมง

อินซูลินที่มีขายอยู่ในปัจจุบันจะมีราคาแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ของอินซูลิน อินซูลินที่บริสุทธิ์ไม่มีสารปนเปื้อนจะมีราคาแพงและคุณภาพดีกว่าโดยผู้ใช้จะเกิดอาการแพ้และแอนตี้บอดี้ (Antibody) ได้น้อยกว่าซึ่งหากเกิดแอนตี้บอดี้จะเป็นสาเหตุให้ต้องเพิ่มขนาดอินซูลินมากขึ้นเมื่อใช้ไประยะหนึ่ง.

31 มกราคม 2553

อาหารกับการควบคุมเบาหวาน (Nutrition and Diabetes)

เรื่องอาหารการกินหรือโภชนาการที่ดี (Good Nutrition) เป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่จะช่วยควบคุมโรคเบาหวาน แม้ผู้ป่วยจะฉีดอินซูลินหรือกินยารักษาเบาหวานอยู่แล้วก็ตามการควบคุมอาหารก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำควบคู่กันไป การควบคุมอาหารต้องมีความรู้เกี่ยวกับปริมาณสารอาหารแต่ละชนิดที่มีอยู่ในอาหาร ผู้ป่วยเบาหวานต้องเลือกกินอาหารให้หลากหลาย(ครบทั้ง 5 หมู่) ในปริมาณที่พอเหมาะกับความต้องการของร่างกายเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วนและได้สัดส่วนที่ถูกต้อง

การควบคุมอาหารในผู้ป่วยเบาหวานต้องมีการปรับพฤติกรรมการกินอาหารเนื่องจากผู้ป่วยส่วนมากจะมีพฤติกรรการกินอาหารแบบตามใจปากและไม่ได้ใส่ใจเรื่องคุณภาพของอาหารที่กินว่ามีสารอาหารที่มีประโยชน์หรือมีสารอาหารที่เกินความจำเป็น(ไขมัน,แป้ง,น้ำตาล) หรือไม่ การควบคุมอาหารควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไปและค่อยๆปรับพฤติกรรมการกินของผู้ป่วยเบาหวาน ในความเป็นจริงแล้วอาหารของผู้ป่วยเบาหวานก็ไม่ได้แตกต่างไปจากอาหารของคนทั่วไปคือกินได้ทุกอย่างเหมือนคนทั่วไปเพียงแต่ต้องควบคุมในเรื่องปริมาณการกินให้อยู่ในความพอดีจึงจะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและลดความรุนแรงของโรคแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้

การควบคุมอาหารในผู้ป่วยเบาหวานมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติหรือใกล้เคียงกับระดับปกติให้มากที่สุด ซึ่งจะเป็นการป้องกันและชะลอการเกิดโรคแทรกซ้อนให้เกิดขึ้นช้าที่สุด การควบคุมอาหารในผู้ป่วยเบาหวานยังทำเพื่อควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอเหมาะ(ขึ้นอยู่กับเพศ อายุและกิจกรรมประจำวัน) หากผู้ป่วยเบาหวานไม่ควบคุมอาหารปล่อยให้น้ำหนักเกินมาตรฐาน (อ้วน) ความอ้วนจะมีผลทำให้ร่างกายดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน การควบคุมอาหารไม่ให้อ้วนจะทำให้อินซูลินทำงานออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น(ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด)

การคำนวณน้ำหนักมาตรฐานอย่างง่ายๆ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมน้ำหนักคือ

สำหรับผู้ชายน้ำหนักที่เหมาะสม (ก.ก.) คือ ความสูง(ซ.ม.) – 100

สำหรับผู้หญิงน้ำหนักที่เหมาะสม (ก.ก.) คือ {ความสูง(ซ.ม.)-100} – 10 %

ค่าน้ำหนักมาตรฐานที่ได้นี้จะบวกลบได้อีกประมาณ 3-5 กิโลกรัม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของร่างกาย หากผู้ป่วยมีน้ำหนักมากกว่าค่ามาตรฐานจะพิจารณาได้ว่า “อ้วน”

การควบคุมอาหารเป็นสิ่งสำคัญมากในการควบคุมเบาหวาน เพื่อให้การควบคุมอาหารเป็นไปอย่างได้ผลผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากนักโภชนาการในเรื่องการเลือกกินอาหารเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงในการเลือกกินอาหารให้ถูกชนิดและได้สัดส่วนที่ถูกต้องอันจะส่งผลดีต่อการป้องกันและชะลอการเกิดโรคแทรกซ้อนและทำให้การควบคุมเบาหวานเป็นไปได้ด้วยดี.