20 เมษายน 2554

โรคหลอดเลือดแดงอุดตัน (Atherosclerosis) และการป้องกัน

โรคหลอดเลือดแดงอุดตัน (Atherosclerosis) มักจะพบได้บ่อยร่วมกับภาวะเส้นเลือดสมองตีบหรือภาวะหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบโดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่สูบบุหรี่จัดหรือคนที่มีความดันโลหิตสูง การตรวจเช็คความยืดหยุ่นของหลอดเลือดและการตรวจเช็คการอุดตันของหลอดเลือดแดงสามารถตรวจสอบได้ด้วยเทคโนโลยีที่วงการแพทย์ยอมรับและเชื่อถือคือ ABI (Ankle-Brachial Index) และ PWV (Pulse Wave Velocity) เป็นการตรวจเช็คหลายๆจุดของร่างกายพร้อมกันเพื่อค้นหาการอุดตันของหลอดเลือดแดง การตรวจร่างกายด้วย ABI นี้สามารถนำไปสู่การตรวจพบโรคอื่นๆที่สำคัญอีกด้วย

หลอดเลือดในร่างกายของคนเราก็เปรียบเหมือนกับท่อน้ำที่เมื่อใช้งานไปนานๆแล้วท่อน้ำก็จะเกิดตะกอนหรือสนิมจับตามผนังท่อน้ำทำให้ขนาดของท่อตีบลงหรือเล็กลง กระแสน้ำที่เคยไหลได้คล่องกลับไหลได้เบาลงกว่าน้ำจะไหลไปถึงปลายทางก็แทนจะไม่มีแรงดันของน้ำเหลืออยู่เลย

หลอดเลือดของคนก็เช่นเดียวกันหากเกิดการตีบ (Stenosis) หรืออุดตัน (Occlusion) เมื่อใดหน้าที่ในการนำเลือดไปสู่อวัยวะต่างๆของร่างกายก็จะน้อยลงๆ อวัยวะต่างๆก็จะได้รับเลือดไปหล่อเลี้ยงน้อยลงด้วย หากสถานการณ์เช่นนี้เกิดกับอวัยวะส่วนที่สำคัญของร่างกายเช่น แขน ขา สมอง หัวใจ ฯลฯ ก็จะส่งผลอย่างรุนแรงต่ออวัยวะส่วนนั้นๆเช่น แขน ขาเกิดอาการหมดแรง เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ฯลฯ

หลอดเลือดแดงที่ตีบแคบหรืออุดตัน เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่โรคหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมองซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากที่สุดของโรคระบบประสาทซึ่งโรคนี้เป็นสาเหตุทำให้พิการ เป็นอัมพาตหรือเสียชีวิต ส่วนโรคหลอดเลือดส่วนกลางมักเกิดอาการกับอวัยวะเช่น แขน ขา ทำให้มีอาการปวดและมีความเสี่ยงที่จะต้องถูกตัดแขนหรือขาได้ โรคต่างๆเหล่านี้สามารถป้องกันได้หากมีการเฝ้าระวังและรักษาทันทีที่ตรวจพบเสียแต่เนิ่นๆ

การป้องกันภาวะหลอดเลือดแดงแข็งหรืออุดตัน (Atherosclerosis) ปัจจัยสำคัญคือเรื่องอาหารการกินและพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค ให้งดบุหรี่-เหล้าโดยเด็ดขาดและพยายามควบคุมระดับไขมันชนิดต่างๆในเลือด ระดับความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ พยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ให้เลือกกินอาหารที่มีไขมันและคลอเรสเทอรอลต่ำเช่น ไข่ขาว เนื้อปลา นมพร่องมันเนย ผักและผลไม้ เปลี่ยนวิธีการปรุงอาหารจากการใช้น้ำมันปรุงอาหาร (ทอด-ผัด) เป็นวิธีปรุงอาหารที่ไม่ใช้น้ำมันในการปรุงเช่น การต้ม นึ่ง ย่างหรืออบ หากอดไม่ได้หรือจำเป็นที่จะต้องกินอาหารทอดให้ทอดโดยใช้น้ำมันถั่วเหลือง

นอกจากการดูแลตัวเองเรื่องอาหารการกินแล้ว สิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารคือการออกกำลังกายให้ออกกำลังกายแบบต่อเนื่องประมาณครึ่งชั่วโมงต่อวันโดยพยายามทำให้ได้อย่างน้อยที่สุด 3 วัน/สัปดาห์เช่น การเต้นแอโรบิค การวิ่งจ๊อกกิ้ง ว่ายน้ำหรือการเดินเร็ว นอกจากนี้ควรควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและเข้ารับการตรวจสุขภาพหรือตรวจเช็คความยืดหยุ่นของหลอดเลือดเป็นระยะๆตามคำแนะนำของแพทย์